วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2561

ค้นประวัติศาสตร์เงินตราสมัยอยุธยา ออเจ้ารู้ไหมว่าใช้สิ่งใดซื้อ-ขายกัน

ค้นประวัติศาสตร์เงินตราสมัยอยุธยา ออเจ้ารู้ไหมว่าใช้สิ่งใดซื้อ-ขายกัน ?

เงินตราสมัยอยุธยา
      
         เปิดเกร็ดความรู้เรื่องระบบเงินตราในสมัยกรุงศรีอยุธยา คนยุคนั้นใช้สิ่งใดซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน และมาตราเงินไทยสมัยนั้นเป็นอย่างไร

         อันว่า "เงินตรา" ก็คือ วัตถุที่ใช้เป็นตัวกลางในการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งในอดีตเริ่มจากการใช้สิ่งของต่าง ๆ เช่น เมล็ดพืช ลูกปัด เปลือกหอย เรื่อยมาจนถึงเหรียญกษาปณ์และธนบัตรเฉกเช่นปัจจุบัน แต่เชื่อว่าหลายคนที่ได้ชมละครเรื่องบุพเพสันนิวาส เมื่อเห็นแม่หญิงการะเกดรวบรวมเบี้ยไปซื้อมุ้งให้บ่าวไพร่ ก็คงสนใจใคร่รู้ว่า แล้วเงินตราที่ใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นคืออะไร และมีมาตราเทียบอย่างไรบ้าง วันนี้กระปุกดอทคอมขอรวบรวมข้อมูลมาเล่าให้ฟัง

          ...ก่อนจะมาถึงอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา มนุษย์ได้ประดิษฐ์เงินตราขึ้นมาใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนสินค้ามานมนานแล้ว ตั้งแต่ยุคฟูนัน (พุทธศตวรรษที่ 6) ยุคทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11) ยุคศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13) และยุคลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 12) กระทั่งในพุทธศตวรรษที่ 18 อาณาจักรสุโขทัย ได้ผลิตเงินพดด้วงขึ้นเป็นครั้งแรกและใช้สืบต่อกันมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

          ดังนั้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ยังคงใช้เงินสกุลพดด้วงเช่นเดียวกับที่ใช้ในอาณาจักรสุโขทัย นอกจากนี้ยังมีการใช้เงินประเภทอื่น ๆ ด้วย รวมแล้วเงินตราที่ใช้กันในสมัยอยุธยานั้นมี 4 ชนิดคือ

 
1. เงินพดด้วง

          เงินพดด้วงทำขึ้นจากแท่งเงินทุบปลายงอเข้าหากัน จัดว่าเป็นเงินตราที่มีมูลค่าสูง เพราะกำหนดมูลค่าเท่ากับน้ำหนักของโลหะที่ใช้ผลิต จึงมักใช้ในการค้าขายระหว่างประเทศมากกว่าที่ชาวบ้านจะใช้กัน แบ่งเป็น 6 ชนิด คือ ตำลึง บาท กึ่งบาท สลึง เฟื้อง และไพ ซึ่งชนิดหนักตำลึงนั้น เนื่องจากมีมูลค่าสูงเกินไป ส่วนชนิดราคากึ่งบาทนั้นมีมูลค่าไม่เหมาะสมแก่ค่าครองชีพ ไม่สะดวกกับการใช้ จึงผลิตขึ้นน้อยมาก และมีเฉพาะในสมัยอยุธยาตอนต้นเท่านั้น

          ทั้งนี้ มีการสันนิษฐานว่า ที่เรียกชื่อ "เงินพดด้วง" เพราะรูปร่างของเงินเป็นก้อนกลมเหมือนตัวด้วง แต่ชาวต่างประเทศจะเรียกว่า "เงินลูกปืน" (Bullet Money) อย่างไรก็ตาม แม้เงินพดด้วงจะใช้กันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่เมื่อมาถึงสมัยอุยธยา เงินพดด้วงได้ถูกพัฒนารูปแบบไป ทำให้มีความแตกต่างกันทั้งรูปร่าง ขนาด น้ำหนัก และชนิดของโลหะ เช่น ขาเงินพดด้วงสั้นลง และตรงปลายขาที่งอจรดกันไม่แหลมเหมือนเงินพดด้วงสุโขทัย มีรอยบากที่ขาเล็กลง และไม่มีรอยบากตรงตัวเงิน

          บนตัวเงินพดด้วงจะมีการประทับตราไว้ โดยในสมัยสุโขทัยมีการประทับตราไว้มากกว่า 2 ดวง เป็นรูปสัตว์ชนชั้นสูง เช่น วัว กระต่าย หอยสังข์ และราชสีห์ ทว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เปลี่ยนตราประทับใหม่ เหลือเพียง 2 ตรา คือ ด้านบนเป็นตราธรรมจักร อันเป็นเครื่องหมายประจำแผ่นดิน ส่วนด้านหน้าเป็นตราประจำรัชกาล ซึ่งแตกต่างกันไปตามรัชสมัย 

เงินพดด้วง

เงินสมัยอยุธยา
ภาพจาก ช่อง 3

          มีหลักฐานระบุว่า ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ใช้ตราธรรมจักรและตราพุ่มข้าวบิณฑ์ ขณะที่ในรัชสมัยอื่น ๆ มีทั้งตราช้าง ตราบัว ตราพุ่มดอกไม้ ตรากระต่าย ตราช่ออุทุมพร ตราราชวัตร ตราพระซ่อมดอกไม้ ตราสมอ ตราหางหงส์ และตราครุฑ ซึ่งไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าตราใดเป็นของรัชกาลใด

          อีกสิ่งที่แตกต่างกันก็คือ เงินพดด้วงในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะมีมาตรฐานเท่ากัน ทั้งรูปร่าง น้ำหนัก และการประทับตรา เนื่องจากรัฐเป็นผู้ผูกขาดในการผลิต

2. เบี้ย


          เบี้ยคือเปลือกหอยเล็ก ๆ ซึ่งพบหลักฐานว่า ชาวต่างชาติที่ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาซื้อ-ขายสินค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้นำเปลือกหอยจากหมู่เกาะมัลดีฟส์มาใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าที่มีมูลค่าไม่สูงมากนัก การใช้เบี้ยจึงเป็นที่แพร่หลาย รวมทั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ใช้หอยเบี้ยเป็นเงินตราปลีกย่อย 

          ทั้งนี้ เงินเบี้ยเป็นเงินปลีกที่มีมูลค่าต่ำสุดในระบบเงินตรา มีอัตราประมาณ 100 เบี้ยต่อ 1 อัฐ (เท่ากับ 1 สตางค์ครึ่ง) ชาวบ้านจึงมีไว้ใช้กันได้ แต่สำหรับชนชั้นปกครอง จะใช้เบี้ยเป็นตัวกำหนดค่าปรับทางกฎหมายเพื่อควบคุมไพร่หรือทาสที่กระทำผิด 


เงินสมัยอยุธยา

เงินสมัยอยุธยา
ภาพจาก ช่อง 3

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหอยเบี้ยจะได้มาจากท้องทะเลเท่านั้น ดังนั้นเบี้ยที่เข้ามาในสยามต้องผ่านมาทางพ่อค้าชาวต่างชาตินำเข้ามาขาย โดยหอยเบี้ยที่นำมาใช้มี 2 ชนิด คือ เบี้ยจั่น และเบี้ยนาง ทำให้บางครั้งเกิดการขาดแคลนเบี้ยขึ้น เป็นเหตุให้ในบางช่วงเวลา เบี้ยที่นำเข้ามาซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสินค้าก็จะมีราคาแพงตามไปด้วย เช่น อาจมีราคา 600-1,000 เบี้ยต่อ 1 เฟื้อง 
 
3. ไพและกล่ำ

          ไพและกล่ำเป็นเงินตราที่ทำจากโลหะที่ไม่ใช่เงิน เช่น ทองแดง ทองเหลือง จึงมีมูลค่าต่ำกว่าเงินพดด้วง และด้วยมูลค่าที่ไม่สูงมากไป ชาวบ้านจึงสามารถนำมาใช้ได้ง่าย โดยมาตราเงินสมัยกรุงศรีอยุธยาระบุไว้ว่า 2 กล่อม เท่ากับ 1 กล่ำ, 2 กล่ำ เท่ากับ 1 ไพ
 
4. เงินประกับ



          เงินประกับคือเงินปลีกทำจากดินเผา มีรูปร่างกลม มีตราประทับเป็นรูปต่าง ๆ คือ ดอกบัว กินรี กระต่าย ราชสีห์ ถูกนำมาใช้แทนเบี้ยเมื่อยามขาดแคลน ดังในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่เกิดสภาวะขาดแคลนเบี้ยขึ้น จึงต้องผลิตประกับดินเผาขึ้นมาใช้แทนในช่วงระยะหนึ่ง จนเมื่อมีพ่อค้านำหอยเบี้ยเข้ามาขายก็กลับมาใช้เบี้ยตามเดิม

สำหรับมาตราเงินตราไทยที่ใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นดังนี้

          1 ชั่ง = 20 ตำลึง
          1 ตำลึง = 4 บาท
          1 บาท = 4 สลึง
          1 สลึง = 2 เฟื้อง
          1 เฟื้อง = 4 ไพ
          1 ไพ = 2 กล่ำ = 200 เบี้ย
          1 กล่ำ = 2 กล่อม = 100 เบี้ย
          1 กล่อม = 50 เบี้ย
 
*อัปเดตข้อมูลล่าสุดเวลา 20.19 น. วันที่ 22 มีนาคม 2561


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม  
สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง  
สำนักกษาปณ์  
เฟซบุ๊ก มาเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา  

ที่มา Kapook.com

วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2561

เทคนิคการอ่านหนังสือแบบนักเรียนญี่ปุ่น

เทคนิคการอ่านหนังสือแบบนักเรียนญี่ปุ่น

5a9378a195fbc_5a93780c0ffbb_1
ดิฉันเพิ่งผ่านฤดูมรสุมในการสอบมาค่ะ เลยอยากแบ่งปันวิธีการแบบคนญี่ปุ่นดูเพราะตั้งแต่ดิฉันมาเรียนที่ญี่ปุ่น ก็สังเกตได้ว่านักเรียนญี่ปุ่นมีเทคนิคการอ่านหนังสือที่น่าสนใจที่เด็กไทยอย่างเราสามารถนำไปปรับใช้ได้ไม่มากก็น้อย บางอย่างอาจจะยากไปในตอนแรกๆแต่พอลองทำดูก็ได้ผลกับคนขี้เกียจอย่างเราเหมือนกันนะ ไปลองดูกันเลย
 1
มีสมาธิจดจ่อ ทำอะไรทำทีละอย่าง
เชื่อว่าอาการนี้ใครหลายๆคนในยุคนี้ก็เป็นกัน นั่นคือ ไม่สามารถทำอะไรทีละอย่างได้ กระวนกระวายตอนที่มือถือห่างตัว ต้องทำนู่นทำนี่ไปด้วยหลายอย่างแม้กระทั่งตอนที่ต้องใช้สมาธิอย่างเวลาอ่านหนังสือ ดิฉันคนหนึ่งละที่ติดนิสัยอ่านหนังสือไปด้วยเล่นมือถือไปด้วย เดี๋ยวตอบแชท เช็คเมล์ หาข้อมูลนู่นนี่ไปด้วย ซึ่งถามว่าเป็นสิ่งดีมั้ย คงไม่แน่ๆ ชีวิตที่มีการ Multitasking มากเกินไปอาจจะดูเหมือนเป็นคนเก่ง แต่หลายคนก็ไม่ได้ทำทุกงานออกมาดีนะในเวลาที่ Multitask แถมแย่สุดๆคือบางทีทำไม่เสร็จสักอย่างด้วย ซึ่งวิธีแก้ก็คือการทำอะไรแค่ทีละอย่างนั่นเอง รับรองว่าถ้าทำได้ชีวิตจะดีขึ้นเยอะ 

แต่ในยุคสมัยที่มีสิ่งล่อใจมากมายอยู่แค่ปลายนิ้ว พูดง่ายกว่าทำเยอะ เราจะทำยังไงล่ะ เพื่อนชาวญี่ปุ่นของดิฉันมีไอเดียดีๆ เช่นการตั้งกฎกับตัวเองว่าจะปิดมือถือหรือเปิดโหมดเครื่องบินเวลาอ่านหนังสือ เพื่อจะได้ไม่วอกแวก มีสมาธิมากขึ้น หากอยากค้นหาข้อมูลในเน็ต ก็จะลิสต์ไว้ แล้วเอามาหาทีเดียว จะไม่เปิดเน็ตค้างเอาไว้ ถือเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ลองทำดูนะ
อ่านทีละนิดแต่หนักแน่น
คนญี่ปุ่นเชื่อว่าคนเราจะมีสมาธิได้อย่างมากก็ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยอมรับกันทั่วไปในญี่ปุ่น สังเกตได้จากแต่ละคลาสแทบทั้งหมดในมหาวิทยาลัยจะมีระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ถ้าเทียบกับมหาลัยไทยละก็บางที่มีคาบที่ปาไป 3 ชั่วโมงเลยทีเดียว เรียนกันยาวไป ดังนั้นคนญี่ปุ่นจะใจจดใจจ่อกับการอ่านให้เต็มที่แต่จะใช้เวลาไม่นานในแต่ละครั้ง

ใครว่ายากเกินไปให้ลองทีละ 15 นาที ซึ่ง 15 นาทีแรกเป็นเวลาวัดใจ ถ้าทำได้ละก็อีก 15 นาทีต่อมาก็จะง่ายขึ้น ทำต่อไปจนค่อยๆครบ 1 ชั่วโมงในที่สุด และอย่าลืมเทคนิคการทำทีละอย่างที่บอกไปข้างต้นนะ
อ่านสารบัญก่อน
ก่อนจะอ่านหนังสือสักเล่มให้เราอ่านที่สารบัญก่อนเข้าโหมดอ่านจริงจัง เพราะจะได้รู้ว่าหนังสือเล่มนี้เขียนถึงอะไรบ้าง ว่าง่ายๆก็เหมือนเรากำลังจีบใครอยู่ เราก็ต้องอยากรู้ข้อมูลพื้นฐานของเขาและเธอ เช่น ชื่ออะไร เป็นคนที่ไหน มีแฟนหรือยังและมีพื้นเพเป็นคนอย่างไร พอเทียบเป็นเรื่องแฟนแล้วเข้าใจได้ทันทีเลยใช่มั้ยล่ะว่าทำไมต้องอ่านสารบัญ

การอ่านสารบัญก็จะทำให้เราเข้าใจรายละเอียดคร่าวๆ ช่วยให้เราจับใจความได้ว่าเนื้อหาที่สำคัญมีอะไรบ้างและช่วยให้คุ้นเคยกับเนื้อหาได้ง่ายขึ้น
2
อ่านล่วงหน้าและทบทวนย้อนหลัง
ญี่ปุ่นมีคอนเซ็ปท์ที่เรียกว่า โยะชู-ฟุคุชู (予習復習) ในกรณีของนักเรียนอย่างเราๆ คำว่าโยะชู หมายถึงการอ่านเตรียมมาก่อนเข้าเรียน ส่วนฟุคุชู หมายถึงการทบทวนสิ่งที่เรียนแล้วอีกครั้ง สำหรับการทบทวนหรือฟุคุชู นั้นนักเรียนไทยส่วนใหญ่ทำกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือโยะชู ค่ะ เพราะเป็นอะไรที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน

จริงๆไม่เฉพาะแต่คนญี่ปุ่นเท่านั้นที่มักจะอ่านหนังสือล่วงหน้าก่อนเข้าคลาส เท่าที่ดิฉันสังเกตนักเรียนฝรั่งหลายคนก็ติดนิสัยอ่านหนังสือล่วงหน้ามาก่อนเข้าคลาสเช่นกัน สรุปว่าทำกันทั้งโลกค่ะแต่คนไทยตั้งแต่ไหนแต่ไรมักให้ครูสอนก่อนทีนึงแล้วค่อยกลับไปอ่านซ้ำหลังคลาสอย่างเดียว ซึ่งคงไม่ได้ผลเท่ากับอ่านทั้งก่อนและหลังคลาสค่ะ

สำหรับข้อดีนั้น การอ่านมาก่อนทำให้เข้าใจเนื้อหาได้ถูกต้องมากขึ้น และยังกระตุ้นให้เราเกิดความสงสัย เกิดการตั้งคำถามในสิ่งที่อ่านมา เหมือนเวลาเราอ่านรีวิวร้านอาหารในเน็ตก่อนมาลองกินจริงๆไงล่ะ แล้วพอเวลามาที่ร้านจริงๆเราก็มักจะตั้งข้อสงสัยได้ว่า เอ๊ะทำไมไม่เหมือนในรีวิว แบบนี้เคยเป็นกันทุกคนใช่มั้ยล่า การอ่านมาก่อนจะทำให้เราฉุกคิดและสามารถตั้งถามคำถามกับอาจารย์ได้ในคลาส ประหยัดเวลาในการทำความเข้าใจไปอีกด้วย เป็นวิธีเรียนที่ไม่ยากแต่มีเหตุผลมากๆเลยนะ
ตั้งสมมติฐานไว้ก่อนว่า "หนังสือไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด"
เวลาอ่านหนังสือให้ตั้งสมมติฐานกับตัวเองไว้ก่อนเลยว่า แม้ข้อมูลจะเขียนไว้ในหนังสือแต่ก็ไม่ใช่ทุกอย่างจะถูกต้องเสมอไป วิธีการคิดแบบนี้ ทำให้เรา "ตื่น" ค่ะ เพราะสมองจะทำงานตลอดเวลา ไม่ใช่เพียงอ่านข้ามไปข้ามมาแล้วก็ลืม เปรียบเทียบกันง่ายๆวิธีการอ่านหนังสือโดยตั้งสมมติฐานก็เหมือนเวลาที่เพื่อนสาวโสดคนสนิทลงรูปเค้กน่ารักๆแต่(แอบ)ถ่ายติดนาฬิกาข้อมือของชายหนุ่มนิรนามมาด้วย สมองของเราจะสั่งการทันทีว่ามันต้องมีอะไรแน่ๆ แล้วเราก็ค้นหาความจริงไปไม่หยุดยั้ง...เช่นกันกับเทคนิคการตั้งสมมติฐาน... 

ถ้าอ่านหนังสือได้แบบนี้รับรองไม่เบื่อและจำได้ทุกรายละเอียดแน่นอน
3
แผ่นพลาสติกสีแดง สำหรับปิดคำ ท่องจำ
ญี่ปุ่นเป็นประเทศแห่งเครื่องเขียน ดังนั้นอุปกรณ์ที่จะช่วยให้เราอ่านหนังสือได้ดีขึ้นจึงมีเยอะมากๆ หนึ่งในนั้นคือการใช้แผ่นพลาสติกสีแดงที่นักเรียนญี่ปุ่นฮิตกันมาก ไม่ว่าจะเด็กประถมหรือนักศึกษาก็ชอบใช้กันทั้งนั้น วิธีการใช้ก็ง่ายๆ เพียงแค่ใช้ปากกาเน้นข้อความสีเขียวหรือแดงบนตัวหนังสือส่วนที่เราต้องการท่องจำ (หรือถ้าเขียนโน้ตเอง ให้เขียนข้อความที่ต้องการจำด้วยปากกาสีแดง) แล้วเวลาเราจะกลับมาท่อง ก็เพียงใช้แผ่นพลาสติกสีแดงปิด ทีนี้เราก็จะมองไม่เห็นข้อความนั้นๆ เหมือนเป็นการเล่นเกม ชวนให้เราคิด สนุกแถมทำให้จำได้ง่ายอีกด้วย
4
การ์ดจำคำศัพท์
อีกหนึ่งอย่างคือการ์ดคำศัพท์หรือแฟลชการ์ด เป็นกระดาษเล็กๆนำมาร้อยด้วยห่วง ขนาดพอดีมือ อ่านได้แม้กระทั่งในรถไฟเบียดๆ เวลาคนญี่ปุ่นเรียนภาษาต่างประเทศอันนี้จะฮิตมากๆ โดยเฉพาะกับคำศัพท์ ด้านหน้าเขียนคำศัพท์ ด้านหลังก็เขียนความหมายหรือตัวอย่างวิธีใช้ รอรถไฟไปก็หยิบมาเดาคำศัพท์ แฟลชการ์ดนี้มีขายอยู่มากมายทั้งตามร้านเครื่องเขียนทั่วไปหรือร้านร้อยเยนก็หาได้ไม่ยาก ในไทยเองก็มีนะ
 5
แอพช่วยเรียน
ส่วนใครที่อยากจะเข้มงวดกับตัวเองขึ้นมาหน่อย ตอนนี้มีแอพมากมายที่มีไว้บันทึกความคืบหน้าในการอ่านหนังสือของตัวเอง 

เช่นแอปพลิเคชั่นในภาพที่ชื่อว่า 目標達成タイマー (Mokuhyo-tassei Timer) สามารถบันทึกจำนวนชั่วโมงการอ่านหนังสือแต่ละวิชาในแต่ละวัน แสดงออกมาเป็นกราฟเข้าใจง่าย เหมาะมากกับคนที่ต้องการบริหารเวลา ดูว่าวิชาไหนเราใช้เวลาในการอ่านมากน้อยเป็นต้น ใครกำลังเตรียมสอบแบบเอาจริงเอาจังหรือจะเอาไว้แข่งอ่านหนังสือกับเพื่อน แบบนี้ก็สะดวกและสนุกไปอีกแบบนะเออ~ แน่นอนว่าเราไม่ต้องใช้แอพนี้ก็ได้ ยังมี Study App อื่นๆที่ทำหน้าที่คล้ายๆกันแต่เป็นภาษาอังกฤษนะคะ หลายคนอาจจะคิดว่าแอพและสมาร์ทโฟนทำให้เราไม่สามารถจดจ่อกับการเรียนได้ แต่วิธีใช้ที่ดีก็มีค่ะ ลองดูนะ
แปลงโซเชียลเป็นแรงบันดาลใจ
ในเมื่อติดโซเชียลกันทุกคนแล้ว ก็ลองใช้มันให้เป็นประโยชน์สิ! 

เดี๋ยวนี้ตาม IG มีคนที่กำลังเตรียมตัวสอบ ที่คอยโพสต์ความคืบหน้าว่าแต่ละวันอ่านไปได้ถึงไหน วันนี้อ่านไปกี่ชั่วโมง มีการรีวิวหนังสือ เทคนิคต่างๆ บางคนถ้าฝีมือดีก็ทำโน้ตสรุปเป็นภาพน่ารักๆโพสต์ลงโซเชียล (แบบตัวอย่างข้างบน) หรือแม้กระทั่งรีวิวเครื่องเขียน อุปกรณ์ช่วยในการอ่านหนังสือก็มี ตอนนี้เริ่มมีนักเรียนญี่ปุ่นหันมาอัพเรื่องราวการเตรียมสอบเพิ่มมากขึ้น ได้อ่านเรื่องราวพวกเขาก็ช่วยให้เรารู้สึกมีแรงบันดาลใจ รู้สึกมีเพื่อนที่เตรียมสอบเหมือนกัน หรือใครที่อัพเองก็เป็นการสร้างกำลังใจที่ดีไปอีกแบบ ใครสนใจก็ลองเสิร์ชหาโดยแทก #studygram หรือ #勉強垢 ในอินสตาแกรมได้เลยจ้า
สรุป
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับวิธีการอ่านหนังสือแบบเด็กนักเรียนญี่ปุ่น อาจเหมือนบ้างต่างบ้างกับบ้านเรา แต่ที่เห็นได้ชัดเจน คือความตั้งใจจริง ดิฉันเชื่อว่าถ้ามีแรงใจเต็มร้อยใครจะสมองดีหรือไม่ดียังไงก็สามารถฝ่าฟันกับอุปสรรคในการเรียนไปได้สบายๆ อย่าลืมหยิบเอาเทคนิคไปลองใช้กันดูนะคะ
ติดตาม Sanook! Campus 

ที่มา: Sanook.com

วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2561

นางสงกรานต์ ปี 2561 นามว่า นางมโหธรเทวี ปีนี้น้ำน้อย-อาหารบริบูรณ์

นางสงกรานต์ ปี 2561 นามว่า นางมโหธรเทวี ปีนี้น้ำน้อย-อาหารบริบูรณ์



นางสงกรานต์ 2561
          กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศ นางสงกรานต์ ประจำปี 2561 คือ นางมโหธรเทวี เสด็จยืนมาเหนือหลังนกยูง เผยคำทำนายปีนี้น้ำจะน้อย แต่ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์

          วันที่ 12 มีนาคม 2561 เว็บไซต์ 77kaoded รายงานว่า กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศ วันมหาสงกรานต์ ปีพุทธศักราช 2561 ตรงกับ วันเสาร์ที่ 14 เมษายน แรม 14 ค่ำ เดือน 5 ปีจอ เวลา 08 นาฬิกา 56 นาที 57 วินาที ปีจอ (ผีเสื้อผู้หญิง ธาตุดิน) สัมฤทธิศก จุลศักราช 1380 ทางจันทรคติเป็นอธิกมาส ทางสุริยคติเป็นปกติสุรทิน

          นางสงกรานต์ทรงนามว่า "นางมโหธรเทวี" ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย หัตถ์ขวาทรงจักร หัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จยืนมาเหนือหลังนกยูง เป็นพาหนะ
          พร้อมคำทำนายว่า...

          - วันที่ 16 เมษายน เวลา 12 นาฬิกา 59 นาที 24 วินาที  เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น 1380 

          - ปีนี้วันศุกร์ เป็นธงชัย วันศุกร์เป็นอธิบดี วันพฤหัสบดีเป็นอุบาทว์ วันอาทิตย์เป็นโลกาวินาศ วันพุธเป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 600 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 60 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า ตกในเขาจักรวาล 240 ห่า นาคให้น้ำ 5 ตัว  

          - เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชี่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินา จะได้ผล 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร พลาหาร มัจฉมังสาหาร จะบริบูรณ์ เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศี เตโช (ไฟ) น้ำน้อย
          ทั้งนี้ สำหรับกิจกรรมงานสงกรานต์ ประจำปี 2561 จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด "สงกรานต์วิถีไทย ใช้น้ำคุ้มค่า ชีวาปลอดภัย" ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีการจัดงานหลายแห่ง เช่น วัดปทุมวนารามวรวิหาร ศูนย์การค้าสยามพารากอน สยามสแควร์ ถนนสีลม และถนนข้าวสาร ระหว่างวันที่ 12-15 เมษายน 2561 ส่วนในต่างจังหวัดมีการจัดงานประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิม และสงกรานต์อาเซียนในจังหวัดต่าง ๆ เช่น สุโขทัย เลย สระแก้ว กาญจนบุรี ระนอง และบุรีรัมย์ เป็นต้น

          นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดทำหนังสือประเพณีสงกรานต์ 2 ภาษา ไทย-อังกฤษ ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้เข้าใจเกี่ยวกับวันปีใหม่ไทย และสิ่งที่ควรทำ-ไม่ควรทำในประเพณีสงกรานต์
ภาพและข้อมูลจาก เว็บไซต์ 77kaoded

ที่มา Kapook.com