วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เทคนิคทำ Portfolio ยังไงให้เข้าตา

เทคนิคทำ Portfolio ยังไงให้เข้าตา


เทคนิคทำ Portfolio ยังไงให้เข้าตา !?
สำหรับน้องๆ ม.ปลาย ที่กำลังเตรียมตัวจะเข้ามหาวิทยาลัย ทุกๆ คนก็คงง่วนอยู่กับการทำ Portfolio เพื่อยื่นเข้ามหาวิทยาลัยกันทั้งนั้น Portfolio ก็คือ แฟ้มสะสมงาน ซึ่งถือว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราจะใช้ยื่นเข้ามหาวิทยาลัย ดังนั้นการทำ Portfolio ให้น่าสนใจ โดดเด่น จนกรรมการมีคำถาม หรืออยากจะคุยกับเรา ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เลยนะคะ

ใน Portfolio ต้องมีอะไรบ้าง?


พื้นฐานของ Portfolio โดยทั่วไปแล้วควรประกอบไปด้วย หน้าปก Portfolio, ประวัติส่วนตัว, ประวัติการศึกษา, กิจกรรมที่เคยเข้าร่วม, รางวัลที่เคยได้รับและผลงานต่างๆ, ภาคผนวก
เทคนิคทำ Portfolio ยังไงให้เข้าตา !?
เทคนิคทำ Portfolio ยังไงให้เข้าตา !?

1. หน้าปก Portfolio


การทำหน้าปก Portfolio นั้นไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายไปเลยซะทีเดียว เราต้องทำยังไงก็ได้ให้ปกแฟ้มสะสมงานของเราดูน่าสนใจจนกรรมการผู้สัมภาษณ์หยิบขึ้นมาอ่าน ถ้าทำแบบนี้ได้ก็ถือว่าสำเร็จแล้วละค่ะ
  • เทคนิค : เราควรบอกข้อมูลพื้นฐานของเราในหน้าปกด้วย เช่น ชื่อ-นามสกุล และโรงเรียน เป็นต้น ควรบอกข้อมูลในชัดเจน เลือกฟอนต์ตัวหนังสือให้อ่านง่าย เห็นชัด รูปภาพตัวเราบนหน้าปกควรเป็นรูปที่ดูแล้วรู้ทันทีว่าคือเรา อาจใส่ชุดไปรเวทได้ แต่ยังต้องอยู่ในความสุภาพเรียบร้อยอยู่ ควรหลีกเลี่ยงภาพที่ใส่กางเกงยีนส์ขาดๆ หรือเสื้อสายเดี่ยวต่างๆ
 เทคนิคทำ Portfolio ยังไงให้เข้าตา !?

2. ประวัติส่วนตัว


บอกประวัติส่วนตัวของตนเองให้ละเอียด อย่างเช่น ชื่อ-นามสกุล, ชื่อเล่น, อายุ, วันเกิด, กรุ๊ปเลือด, นิสัย, ความชอบ หรืองานอดิเรก, สิ่งที่สนใจ หรือแม้กระทั่งว่าเรามองอนาคตอย่างไรก็สามารถใส่เข้าไปในส่วนนี้ได้
  • เทคนิค : การเลือกฟอนต์เป็นสิ่งสำคัญ ควรเลือกฟอนต์ที่อ่านง่าย สะอาดสะอ้าน และมองเห็นได้ชัด และในส่วนนี้น้องๆ อาจโชว์ความสามารถสักหน่อยโดยการทำประวัติส่วนตัวเป็น 2 ภาษา คือ ภาษาไทย และภาษาอังกฤ


3. ประวัติการศึกษา


บอกประวัติการศึกษาของตนเองโดยเรียงจากระดับจากน้อยที่สุดมาจนปัจจุบัน หากมั่นใจในเกรดเฉลี่ยของตนเองก็สามารถใส่เข้าไปในส่วนนี้ได้เลย หากต้องการใส่ทรานสคริปแนะนำว่าให้ใส่ในส่วนของภาคผนวกแทน ชื่อโรงเรียนที่เขียนควรเป็นชื่อโรงเรียนแบบเต็มยศนะคะ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ตัวย่อในการทำ Portfolio นะคะ
  • เทคนิค : อาจเลือกอธิบายประวัติการศึกษาโดยแบ่งเป็น ระดับประถม ระดับมัธยมตอนต้น ระดับมัธยมตอนปลาย หรือระดับอาชีวศึกษา เป็นต้น และใช้เทคนิคการอธิบายแบบตาราง เพื่อให้ดูเข้าใจง่าย 


4. กิจกรรมที่เคยเข้าร่วม


ส่วนนี้ถือว่าเป็นหัวใจหลักของ Portfolio เลยก็ว่าได้ ดั้งนั้นควรเลือกกิจกรรมเด่นๆ ของเรามาใส่ในส่วนนี้ดีๆ นะคะ กิจกรรมในที่นี้หมายถึงกิจกรรมที่ไม่ใช่ด้านวิชาการต่างๆ โดยอาจจะเลือกการจัดเรียงแบบระดับชั้นก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย อย่างเช่น เมื่อต้นระดับชั้นมัธยมต้นเคยทำกิจกรรมอะไรบ้าง เป็นต้น
  • เทคนิค :  เลือกใส่ผลงานที่เด่นๆ และมีความเกี่ยวข้องกับคณะที่เราอยากจะเข้า ในแต่ละกิจกรรมอาจเลือกเพียง 3-4 รูปในและเขียนอธิบายใต้ภาพสั้นๆ ให้เข้าใจง่ายว่าเราทำอะไรในกิจกรรมนั้นๆ


5. รางวัลที่เคยได้รับและผลงานต่างๆ


ส่วนนี้ก็ถือเป็นหัวใจของ Portfolio เช่นกัน ดังนั้น เราควรเลือกแค่ผลงาน หรือรางวัลเด่นๆ ที่สามารถบอกว่าตัวเราเองนั้นมีความสามารถอะไรบ้างโดยการใส่ภาพผลงานนั้นๆ ลงไป ส่วนพวกเกียรติบัตรและรางวัลต่างๆ สามารถอ้างอิงและนำไปใส่ในภาคผนวกได้ค่ะ
  • เทคนิค : ควรเขียนอธิบายความภูมิใจในผลงานต่างๆ ที่เคยได้ทำ ว่าเราภูมิใจอะไรในงานนั้น ลำบากแค่ไหนกว่าจะทำสำเร็จ เป็นต้น
 เทคนิคทำ Portfolio ยังไงให้เข้าตา !?

6. ภาคผนวก


ส่วนนี้คือส่วนที่ร่วมรวบเอกสารและภาพกิจกรรมต่างๆ ที่เราต้องการที่จะใส่เพิ่มเติม โดยเอกสารหลักๆ ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ สำเนาใบทรานสคริป นั่นเอง ในส่วนของเกียรติบัตรต่างๆ แนะนำว่าให้ถ่ายเป็นสำเนาและเรียงตาม พ.ศ. ที่ได้รับ
  • เทคนิค :ในการใส่เกียรติบัตรหรือภาพต่างๆ ควรมีการระบุเลขหน้าไว้ด้วย เนื่องจากเวลาสัมภาษณ์เราจะได้พูดอ้างอิงได้ง่ายๆ ว่ามาจากเกียรติบัตรหรือกิจกรรมใด

ทั้งหมดนี้ก็คือส่วนประกอบพื้นฐานและเทคนิคต่างๆ ที่ Sanook! Campus หวังว่าจะมีส่วนช่วยน้องๆ ในการเป็นแนวทางทำ Portfolio อย่างไรก็ตาม การใส่ความเป็นตัวของตัวเองลงเป็นใน Portfolio นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ใครชอบแบบเรียบๆ ก็ทำรูปแบบให้ออกมาเรียบๆ สะอาดๆ แต่ก็ดูน่าสนใจได้ ไม่จำเป็นต้องมีสีสันจัดจ้านเสมอไปถึงจะสามารถดึงดูดให้กรรมการผู้สัมภาษณ์มาสนใจได้

ขอขอบคุณ
ที่มา: Sanook.com

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประกาศแล้ว เพิ่มปลาหายากอีก 12 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ประกาศแล้ว เพิ่มปลาหายากอีก 12 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

          ไฟเขียว ! เพิ่มรายชื่อปลาหายากใกล้สูญพันธุ์อีก 12 ชนิด ทั้ง ปลากระเบนราหูน้ำจืด ปลากระเบนแมนด้ายักษ์ ปลาโรนิน ปลาฉนากปากแหลม เข้าบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามครอบครอง มีผลหลังประกาศราชกิจจานุเบกษา 60 วัน


ปลาหายาก
        หลังจากก่อนหน้านี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอรายชื่อสัตว์น้ำหายากใกล้สูญพันธุ์ 12 ชนิด เพื่อให้เข้าไปอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 นั้น

        ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ดร.ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ภาพเอกสารกฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ซึ่งเนื้อหาระบุให้สัตว์น้ำจำพวกปลาทั้ง 12 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สำหรับสัตว์ป่าคุ้มครองที่ประกาศเพิ่มเติมทั้ง 12 ชนิด ประกอบด้วย

1. ปลากระเบนปีศาจครีบโค้ง  (Mobula thurstoni)

         มีลักษณะเด่นตรงที่ขอบครีบอกสวนหน้าบิดโค้ง 2 ทาง มีรูหายใจอยู่ใต้รอยต่อครีบอกกับลำตัว ไม่มีเงี่ยง ส่วนคอสั้น ครีบส่วนหน้าสั้น หางยาว ความยาวเท่าความกว้างลำตัว โคนหางบีบขอดเข้าในแนวตั้ง ออกลูกครั้งละ 1 ตัว กินแพลงก์ตอนและปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร มักอาศัยตามชายฝั่งทะเล

2. ปลากระเบนปีศาจครีบสั้น (Mobula kuhlii) 

         มีลักษณะคล้ายปลากระเบนครีบโค้ง แต่มีหางสั้นกว่า ความยาวน้อยกว่าความกว้างลำตัว ส่วนตัดคอดหางเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนคอสั้น ครีบส่วนหน้าสั้นน้อยกว่า 16% ของความกว้างลำตัว ออกลูกครั้งละ 1 ตัว กินแพลงก์ตอนและปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร มักอาศัยตามชายฝั่งทะเล

3. ปลากระเบนปีศาจแคระ (Mobula eregoodootenkee)

         ลักษณะเด่นคือมีแถบสีดำพาดยาวบริเวณขอบของครีบอกส่วนหน้า ส่วนคอยาว ครีบส่วนหน้ายาวมากกว่า 16% ของความกว้างลำตัว แต่หางสั้นน้อยกว่าความกว้างของลำตัว ส่วนตัดของคอดหางเป็นรูปสี่เหลี่ยม ออกลูกครั้งละ 1 ตัว กินแพลงก์ตอนและปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร มักอาศัยตามชายฝั่งทะเล

4. ปลากระเบนปีศาจหางหนาม (Mobula japonica)

         เป็นปลากระเบนที่มีหางยาวมากกว่าความกว้างของลำตัว ซึ่งกว้างได้มากที่สุดถึง 3.1 เมตร มีรูหายใจอยู่เหนือและใกล้กับรอยต่อครีบอกกับลำตัว แต่อยู่ใต้สันกระดูกเหนือตา มีเงี่ยงอยู่ที่โคนหาง ออกลูกครั้งละ 1 ตัว กินแพลงก์ตอนและปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร มักอาศัยตามชายฝั่งทะเล

5. ปลากระเบนแมนด้าแนวปะการัง (Manta alfredi) หรือปลากระเบนราหูแนวปะการัง

ปลาหายาก


         ลักษณะเด่นอยู่ตรงที่ระหว่างซี่เหงือกและท้อง มีจุดลายเฉพาะกระจายทั่ว รอบปากด้านท้องมีสีขาวหรือเทาอ่อน ขอบปลายครีบอกส่วนท้ายอาจมีสีขาวหรือดำ ปลาชนิดนี้ไม่มีเงี่ยงและโคนหางเรียบ ไม่มีก้อนหินปูน ลายด้านบนส่วนหัวเป็นแถบสีดำรูปตัวอักษร Y ออกลูกครั้งละ 1-2 ตัว กินแพลงก์ตอนและปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร มักอาศัยตามชายฝั่งทะเล

6. ปลากระเบนแมนด้ายักษ์ (Manta birostris) หรือปลากระเบนราหูยักษ์

ปลาหายาก
         สามารถมีขนาดกว้างที่สุดถึง 7 เมตร ด้านท้องมีจุดลายเฉพาะ ในปากและรอบปากด้านท้องมีสีเข้มดำ ขอบปลายครีบอกส่วนท้ายและขอบล่างของซี่เหงือกคู่ที่ 5 มีสีเข้มดำ โคนหางมีลักษณะโปน นูนขึ้นมาเป็นก้อนหินปูน ลายด้านส่วนหัวเป็นแถบสีดำรูปตัวอักษร T ออกลูกครั้งละ 1-2 ตัว กินแพลงก์ตอนและปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร มักอาศัยตามชายฝั่งทะเล

7. ปลากระเบนราหูน้ำจืด หรือปลากระเบนเจ้าพระยา (Himantura chaophraya)

         เป็นปลากระเบนน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และใหญ่เป็นอันดับ 2 หากเทียบกับปลากระเบนแมนตาที่พบได้ในทะเล โดยสามารถมีน้ำหนักได้ถึง 600 กิโลกรัม มีลักษณะตัวเกือบเป็นรูปวงกลม ส่วนหางเรียวยาวเหมือนแส้ ไม่มีริ้วหนัง มีเงี่ยงแหลมที่โคนหาง 2 ชิ้น แต่ส่วนปลายหัวแหลม ขอบด้านหน้ามนกลมคล้ายใบโพธิ์ บริเวณเงี่ยงของปลากระเบนราหูน้ำจืด มีสารเคมีคล้ายเมือกลื่น ๆ ที่มีพิษอยู่ หากถูกแทงเข้าอาจเสียชีวิตได้ ปลาชนิดนี้พบอาศัยอยู่ตามแม่น้ำสายใหญ่ ๆ จนถึงบริเวณใกล้ปากแม่น้ำ ออกลูกครั้งละ 2–3 ตัว

8. ปลาโรนิน หรือปลากระเบนท้องน้ำ (Rhina ancylostoma)

         เป็นปลาที่มีส่วนหัวขนาดใหญ่ รูปทรงแบนกลมและโค้งมน ปากกลม ครีบอกแผ่กว้าง ครีบหลังตั้งสูงเป็น 2 ตอน บริเวณเหนือตามีสันเป็นหนาม ตรงกลางหลังด้านหน้าของครีบหลังมีหนามเรียงตัวกันเป็นแถวชัดเจน พื้นผิวลำตัวด้านบนมีสีเทาอมน้ำตาล มีแต้มเป็นจุดสีขาวจาง ๆ กระจายอยู่ทั่วตัว อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินทรายปนโคลน นับเป็นปลาหายากชนิดหนึ่งที่มักถูกคนที่มีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ล่าไปทำหัวแหวนหรือนำมาห้อยคอ

9. ปลาฉนากเขียว (Pristis pristis)

มีฟันขึ้นตั้งแต่โคนจะงอยปาก และระยะห่างฟันแต่ละซี่ไม่เท่ากัน แนวครีบหลังอันแรกอยู่เหนือแนวครีบท้อง ครีบหางส่วนล่างมีขนาดเล็กมากหรือไม่ ออกลูกครั้งละ 1-12 ตัว มักอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ แม่น้ำ ทานปลาตัวเล็กหรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นอาหาร 

10. ปลาฉนากปากแหลม (Anoxypristis cuspidata)

         มีลักษณะเด่นคือ บริเวณโคนจะงอยปากไม่มีฟันขึ้น แนวครีบหลังอันแรกอยู่หลังแนวครีบท้องเล็กน้อย ครีบหางส่วนลางมีลักษณะแตกต่างกันชัดเจน ออกลูกครั้งละ 1-20 ตัว มักอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ แม่น้ำ ทานปลาตัวเล็กหรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นอาหาร 

11. ปลาฉนากฟันเล็ก  (Pristis zijsron)

         ลักษณะเด่นอยู่ที่ฟัน มีฟันขึ้นตั้งแต่โคนจะงอยปาก และระยะห่างฟันแต่ละซี่ไม่เท่ากัน แนวครีบหลังอันแรกอยู่เหนือแนวครีบท้องเล็กน้อย ออกลูกครั้งละ 15-20 ตัว มักอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ แม่น้ำ ทานปลาตัวเล็กหรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นอาหาร 
 
12. ปลาฉนากยักษ์ (Pristis pectinata)

         ลักษณะคล้ายปลาฉนากฟันเล็ก แต่ระยะห่างฟันแต่ละซี่เท่ากัน มีแนวครีบหลังอันแรกอยู่เหนือแนวครีบท้อง ครีบหางส่วนล่างมีขนาดเล็กกว่าส่วนบน ออกลูกครั้งละ 1-13 ตัว  มักอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ แม่น้ำ ทานปลาตัวเล็กหรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นอาหาร 

         ทั้งนี้ สัตว์ป่าคุ้มครอง คือ สัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์ตามบัญชีแนบท้าย กฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ถือเป็นสัตว์ที่ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้า-ส่งออก รวมทั้งห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามครอบครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ประกอบด้วยสัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 201 ชนิด นก 952 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 91 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด แมลง 20 ชนิด สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ 12 ชนิด และปลา ซึ่งเพิ่มจาก 14 ชนิด เป็น 26 ชนิด

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

ที่มา : Kapook.com

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2561

โรคทางพันธุกรรม ถ่ายทอดได้จากพ่อ-แม่สู่ลูก

สาเหตุมาจากการถ่ายทอดพันธุกรรมของฝั่งพ่อและแม่ หากหน่วยพันธุกรรมของพ่อและแม่มีความผิดปกติแฝงอยู่ โดยความผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากการผ่าเหล่าของหน่วยพันธุกรรมบรรพบุรุษ ทำให้หน่วยพันธุกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมได้

โรคทางพันธุกรรม
          ทั้งนี้ โรคทางพันธุกรรม เป็นโรคติดตัวไปตลอดชีวิต ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยโรคทางพันธุกรรม เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม 2 ประการ คือ ความผิดปกติของออโตโซม (โครโมโซมร่างกาย) และความผิดปกติของโครโมโซมเพศ
โรคที่เกิดจากความผิดปกติบนออโตโซม (Autosome)

          โรคที่เกิดจากความผิดปกติบนออโตโซม คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมในร่างกาย ที่มี 22 คู่ หรือ 44 แท่ง สามารถเกิดได้กับทุกเพศ และมีโอกาสเกิดได้เท่า ๆ กัน โรคที่เกิดจากความผิดปกติบนออโตโซม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ความผิดปกติที่จำนวนออโตโซม และความผิดที่รูปร่างโครโมโซม ประกอบด้วย


โรคทางพันธุกรรม

1.ความผิดปกติของจำนวนออโตโซม

          เป็นความผิดปกติที่จำนวนออโทโซมในบางคู่ที่เกินมา 1 โครโมโซม จึงทำให้โครโมโซมในเซลล์ร่างกายทั้งหมดเป็น 47 โครโมโซม เช่น ออโทโซม 45 แท่ง 1 โครโมโซมเพศ 2 แท่ง ได้แก่

* กลุ่มอาการดาวน์ หรือ ดาวน์ซินโดรม (Down's syndrome) 

โรคดาวน์ซินโดรม

          เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง คือ มี 3 แท่ง จากปกติที่มี 2 แท่ง ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า TRISOMY 21 นอกจากนั้นอาจมีสาเหตุมาจากการย้ายที่ของโครโมโซม เช่น โครโมโซมคู่ที่ 14 มายึดติดกับโครโมโซมคู่ที่ 21 เป็นต้น และยังมีสาเหตุมาจาก มีโครโมโซมทั้ง 46 และ 47 แท่ง ในคน ๆ เดียว เรียกว่า MOSAIC ซึ่งพบได้น้อยมาก

          ลักษณะของเด็กดาวน์ซินโดรม จะมีศีรษะค่อนข้างเล็ก แบน และตาเฉียงขึ้น ดั้งจมูกแบน ปากเล็ก ลิ้นมักยื่นออกมา ตัวเตี้ย มือสั้น อาจเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือโรคลำไส้อุดตันตั้งแต่แรกเกิด มีภาวะต่อมไทรอยด์บกพร่อง และเป็นปัญญาอ่อน พบบ่อยในแม่ที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก


กลุ่มอาการเอ็ดเวิร์ดซินโดรม (Edward's syndrome)

          เกิดจากโครโมโซมคู่ที่ 18 เกินมา 1 โครโมโซม ทำให้เป็นปัญญาอ่อน ปากแหว่ง เพดานโหว่ คางเว้า นิ้วมือบิดงอ และกำแน่นเข้าหากัน ปอดและระบบย่อยอาหารผิดปกติ หัวใจพิการแต่กำเนิด ทารกมักเป็นเพศหญิง และมักเสียชีวิตตั้งแต่ก่อนอายุ 1 ขวบ

กลุ่มอาการพาทัวซินโดรม (Patau syndrome)

          อาการนี้เกิดจากโครโมโซมคู่ที่ 13 เกินมา 1 โครโมโซม ทำให้เด็กมีอาการปัญญาอ่อน อวัยวะภายในพิการ และมักเสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิด หรือหากมีชีวิตรอดก็จะมีอายุสั้นมาก


2. ความผิดปกติของรูปร่างออโตโซม 

          เป็นความผิดปกติที่ออโทโซมบางโครโมโซมขาดหายไปบางส่วน แต่มีจำนวนโครโมโซม 46 แท่ง เท่ากับคนปกติ ประกอบด้วย

กลุ่มอาการคริดูชาต์ หรือ แคทครายซินโดรม (cri-du-chat or cat cry syndrome) 

          เกิดจากโครโมโซมคู่ที่ 5 ขาดหายไปบางส่วน ทำให้ผู้ป่วยมีศีรษะเล็กกว่าปกติ เกิดภาวะปัญญาอ่อน หน้ากลม ใบหูต่ำ ตาห่าง หางตาชี้ นิ้วมือสั้น เจริญเติบโตได้ช้า เวลาร้องจะมีเสียงเหมือนแมว จึงเป็นที่มาของชื่อโรคนี้ว่า แคทครายซินโดรม (cat cry syndrome)

* กลุ่มอาการเพรเดอร์-วิลลี (Prader-Willi syndrome)

          เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 15 ทำให้ผู้ป่วยมีรูปร่างอ้วนมาก มือเท้าเล็ก กินจุ มีความบกพร่องทางสติปัญญา มีพฤติกรรมแปลก ๆ เช่น พูดช้า รวมทั้งเป็นออทิสติกด้วย

โรคที่เกิดจากความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมในโครโมโซมเพศ (Sex chromosome)

          โครโมโซมเพศ ประกอบด้วยโครโมโซม 1 คู่ หรือ 2 แท่ง ในผู้หญิง เป็นแบบ XX ส่วนในผู้ชายเป็นแบบ XY โรคที่เกิดความผิดปกติในโครโมโซม สามารถเกิดได้ในทั้งหญิงและชาย แต่จะมีโอกาสเกิดขึ้นมากในเพศใดเพศหนึ่ง โดยลักษณะที่ควบคุมโดยยีนด้อยบนโครโมโซม X ได้แก่ หัวล้าน ตาบอดสี โรคฮีโมฟีเลีย โรคภาวะพร่องเอนไซม์ จี- 6- พีดี (G-6-PD) โรคกล้ามเนื้อแขนขาลีบ การเป็นเกย์ และอาการต่าง ๆ นี้ มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากผู้ชายมีโครโมโซม x เพียงตัวเดียว โรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมเพศ ได้แก่

* ตาบอดสี (Color blindness)

ตาบอดสี

          เป็นภาวะการมองเห็นผิดปกติ โดยมากเป็นการตาบอดสีตั้งแต่กำเนิด และมักพบในเพศชายมากกว่า เพราะเป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบลักษณะด้อยบนโครโมโซม ผู้ที่เป็นตาบอดสีส่วนใหญ่จะไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสีเขียวและสีแดงได้ จึงมีปัญหาในการดูสัญญาณไฟจราจร รองลงมาคือ สีน้ำเงินกับสีเหลือง หรืออาจเห็นแต่ภาพขาวดำ และความผิดปกตินี้จะเกิดขึ้นกับตาทั้งสองข้าง ไม่สามารถรักษาได้

* ฮีโมฟีเลีย (Hemophilia)

โรคฮีโมพีเรีย

          โรคฮีโมฟีเลีย คือ โรคเลือดออกไหลไม่หยุด หรือเลือดออกง่ายหยุดยาก เป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบมากในเพศชาย เพราะยีนที่กำหนดอาการโรคฮีโมฟีเลียจะอยู่ใน โครโมโซม X และถ่ายทอดยีนความผิดปกตินี้ให้ลูก ส่วนผู้หญิงหากได้รับโครโมโซม X ที่ผิดปกติ ก็จะไม่แสดงอาการ เนื่องจากมีโครโมโซม X อีกตัวข่มอยู่ แต่จะแฝงพาหะแทน

          ลักษณะอาการ คือ เลือดของผู้ป่วยฮีโมฟีเลียจะไม่สามารถแข็งตัวได้ เนื่องจากขาดสารที่ทำให้เลือดแข็งตัว อาการที่สังเกตได้ เช่น เลือดออกมากผิดปกติ เลือดกำเดาไหลบ่อย ข้อบวม เกิดแผลฟกช้ำขึ้นเอง แต่โรคฮีโมฟีเลียนี้ สามารถรักษาได้ โดยการใช้สารช่วยให้เลือดแข็งตัวทดแทน


* ภาวะพร่องเอนไซม์ จี- 6- พีดี (G-6-PD : Glucose-6-phosphate dehydrogenase)

โรคแพ้ถั่วปากอ้า

          โรคพร่องเอนไซม์ G6PD หรือ Glucose-6-phosphate dehydrogenase เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้ง่ายเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น ซึ่งสาเหตุของ ภาวะพร่องเอนไซม์ จี-6-พีดี นั้นเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมแบบ X ทำให้เอนไซม์ G6PD ที่คอยปกป้องเม็ดเลือดแดงจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระบกพร่อง จนไม่สามารถป้องกันการทำลายสารอนุมูลอิสระที่เป็นพิษต่อเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ ผู้ป่วยจึงมีอาการซีดเป็นครั้งคราว เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตกอย่างฉับพลัน ในเด็กจะมีอาการดีซ่าน ส่วนผู้ใหญ่จะปัสสาวะเป็นสีดำ ถ่ายปัสสาวะน้อยจนเกิดอาการไตวายได้ โดยสิ่งที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการได้ เช่น อาหารอย่างถั่วปากอ้า ที่มีสารอนุมูลอิสระมาก รวมทั้งการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวหลั่งสารอนุมูลอิสระมากขึ้น

          ทั้งนี้ โรคนี้ไม่สามารถรักษาได้ ถ้ารู้จักการระวังตัว เช่น หลีกเลี่ยงยา หรืออาหารที่แสลง ก็จะไม่เกิดอันตราย ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยต้องดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ไตวาย


* กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner's syndrome)

          เกิดในเฉพาะเพศหญิง สาเหตุจากโครโมโซม X หายไป 1 แท่ง ทำให้เหลือโครโมโซมในเซลล์ร่างกาย  45 แท่ง ผู้ป่วยจะมีอาการปัญญาอ่อน และตัวเตี้ย ที่บริเวณคอมีพังผืดกางเป็นปีก มักเป็นหมันและไม่มีประจำเดือน มีอายุเท่ากับคนปกติทั่ว ๆ ไป


* กลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ (Klinefelter's syndrome)

          พบในเพศชาย เกิดจากโครโมโซม X เกินมา 1 หรือ 2 โครโมโซม ทำให้คารีโอไทป์เป็น 47,XXY หรือ 48,XXXY ผู้ป่วยจะมีอาการปัญญาอ่อน รูปร่างอ้อนแอ้น สูงชะลูด หน้าอกโต มีเต้านมเหมือนผู้หญิง และเป็นหมัน เพราะไม่มีอสุจิ และมีอัณฑะเล็ก ยิ่งถ้ามีจำนวนโครโมโซม X มาก อาการปัญญาอ่อนก็จะรุนแรงมากขึ้น

* กลุ่มอาการทริปเปิ้ลเอ็กซ์ (Triple x syndrome)

          เกิดในผู้หญิง โดยจะมีโครโมโซม x เกินมา 1 แท่ง ทำให้เป็น XXX  รวมมีโครโมโซม 47 แท่ง ทำให้ผู้หญิงคนนั้นเป็นหมัน เจริญเติบโตไม่เต็มที่ และไม่มีประจำเดือน

* กลุ่มอาการดับเบิลวาย (Double y syndrome)

          เกิดในผู้ชาย ที่มีโครโมโซม y เกินมา 1 แท่ง มีจีโนไทป์เป็น xyy เรียกว่า Super Male ลักษณะจะเป็นผู้ชายที่มีร่างกายปกติ แต่เป็นหมัน มีอารมณ์ฉุนเฉียว สูงมากกว่า 6 ฟุต มีระดับฮอร์โมนเพศชายในเลือดสูงกว่าปกติ ส่วนใหญ่เป็นหมัน ไม่สามารถมีบุตรได้


โรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมอื่น ๆ ได้แก่

* ฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) หรือ (Phenylpyruvic oligophrenia)

          เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากการถ่ายทอดทางโครโมโซม โดยโครโมโซมนั้นมีความบกพร่องของยีนที่สร้าง Phenylalanine hydroxylase ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถสร้างเอนไซม์นี้ได้ จึงไม่สามารถย่อยสลายกรดอะมิโน phenylalanine ไปเป็น tyrosine เหมือนคนปกติ จึงเกิดภาวะ phenylalaine สะสมในเลือดมากผิดปกติ และมี phenylpyruvic acid และกรดอินทรีย์อื่นปนในปัสสาวะ รวมทั้งอาการโลหิตเป็นพิษด้วย โดยผู้ป่วยฟีนิลคีโตนูเรียนี้ มักจะมีอาการปัญญาอ่อน และไม่สามารถรับประทานอาหารได้เหมือนคนทั่วไป โดยอาการฟีนิลคีโตนูเรียนี้ จะพบในคนผิวขาวมากกว่า และในประเทศไทยพบไม่มาก

* สไปโนซีรีเบลลาร์อะแท็กเซีย (spinocerebellar ataxia)

          เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ยังไม่มีทางรักษา โดยเกิดจากโพลีกลูตาไมน์ ไตรนิวคลีโอไทด์ ผลิตซ้ำมากเกินปกติ ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวทางกายภาพ ทั้งท่าเดิน การพูด ตากระตุก และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย แต่ระบบจิตใจและความรู้สึกนึกคิดยังปกติ
       
          ทั้งนี้ สไปโนซีรีเบลลาร์อะแท็กเซีย มีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะแสดงอาการต่าง ๆ กันไป รวมทั้งอายุของผู้ป่วยที่เริ่มเป็นโรค และลักษณะการถ่ายทอดทางพันธุกรรมก็แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของยีนบนโครโมโซมของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบ

* โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia )

ธาลัสซีเมีย โรคทางพันธุกรรมที่คนไทยเป็นพาหะกว่า 20 ล้านคน !

          โรคธาลัสซีเมีย เป็นลักษณะที่ถูกควบคุมด้วยยีนด้อยบนโครโมโซม ซึ่งเมื่อผิดปกติจะทำให้การสร้างฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดผิดปกติ เม็ดเลือดแดงจึงมีรูปร่างผิดปกติ นำออกซิเจนไม่ดี ถูกทำลายได้ง่าย ทำให้ผู้ป่วยโรคทาลัสซีเมียเป็นคนเลือดจาง และเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา

          ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคทาลัสซีเมียร้อยละ 1 คือประมาณ 6 แสนคน แต่พบผู้เป็นพาหะถึงร้อยละ 30-40 คือประมาณ 20-25 ล้านคน ดังนั้นถ้าหากผู้เป็นพาหะมาแต่งงานกัน และพบยีนผิดปกติร่วมกัน ลูกก็อาจเป็นโรคทาลัสซีเมียได้ ทั้งนี้ โรคทาลัสซีเมีย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ แอลฟาธาลัสซีเมีย และเบต้าธาลัสซีเมีย ซึ่งก็คือ ถ้ามีความผิดปกติของสายแอลฟา ก็เรียกแอลฟาธาลัสซีเมีย และถ้ามีความผิดปกติของสายเบต้าก็เรียกเบต้าธาลัสซีเมีย

          ผู้ป่วยโรคทาลัสซีเมีย จะมีอาการซีด ตาขาวสีเหลือง ตัวเหลือง ตับม้ามโตมาตั้งแต่เกิด ผิวหนังดำคล้ำ กระดูกใบหน้าจะเปลี่ยนรูป มีจมูกแบน กะโหลกศีรษะหนา โหนกแก้มนูนสูง กระดูกเปราะ หักง่าย เจริญเติบโตช้ากว่าคนปกติ ส่วนอาการนั้น อาจจะไม่รุนแรง หรืออาจรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตเลยก็ได้ คนที่มีอาการมากจะมีอาการเลือดจางมาก ต้องให้เลือดเป็นประจำ หรือมีภาวะติดเชื้อบ่อย ๆ ทำให้เป็นไข้หวัดได้บ่อย

          ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคทาลัสซีเมีย คือ ให้ทานอาหารที่มีกรดโฟลิกสูง เช่น ผักใบเขียว เนื้อสัตว์ ให้มาก ๆ เพื่อนำไปใช้สร้างเม็ดเลือดแดง


* โรคซีสติกไฟโบรซีส (Cystic fibrosis)

          เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้ร่างกายสร้างเยื่อเมือกหนามากผิดปกติในปอดและลำไส้ ทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก และเยื่อเมือกหนาเหล่านั้นอาจทำให้ปอดติดเชื้อ หากมีแบคทีเรียเติบโตอยู่ ส่วนเยื่อเมือกหนาในลำไส้ จะทำให้ย่อยอาหารได้ลำบาก ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ แต่สามารถบรรเทาได้โดยการใช้ยาสลายเยื่อเมือก
โรคซิกเกิลเซลล์ (Sickle-cell) 

          เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นกับเลือด ทำให้ฮีโมโกลบินมีรูปร่างผิดปกติ เซลล์เม็ดเลือดแดงเป็นรูปเคียว จึงไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนได้มากเท่ากับเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีรูปร่างปกติ ส่งผลให้เกิดอาการหลอดเลือดอุดตัน ผู้ป่วยจะอ่อนเพลียและไม่มีแรง

* โรคคนเผือก (Albinos)

          ผู้ที่เป็นโรคคนเผือกคือ คนที่ไม่มีเม็ดสีที่ผิวหนัง จะมีผิวหนัง ผม ขน และม่านตาสีซีด หรือสีขาว เพราะขาดเม็ดสีเมลานิน หรือมีน้อยกว่าปกติ ทำให้ทนแสงแดดจ้าไม่ค่อยได้

* โรคดักแด้

          ผู้เป็นโรคดักแด้จะมีผิวหนังแห้งแตก ตกสะเก็ด ซึ่งแต่ละคนจะมีความรุนแรงของโรคต่างกัน บางคนผิวแห้งไม่มาก บางคนผิวลอกทั้งตัว ขณะที่บางคนหากเป็นรุนแรงก็มักจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อที่เข้าทางผิวหนัง

* โรคท้าวแสนปม (neurofibromatosis)
 
โรคท้าวแสนปม
ภาพจาก 2p2play / Shutterstock.com

          เป็นโรคผิวหนังที่ถ่ายทอดโดยโครโมโซม ลักษณะที่พบคือ ร่างกายจะมีตุ่มเต็มไปทั่วร่างกาย ขนาดเล็กไปจนใหญ่ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือชนิดที่พบบ่อย พบประมาณ 1 ใน 2,500 ถึง 3,500 คน โดยพบอาการอย่างน้อย 2 ใน 7 อาการต่อไปนี้คือ มีปานสีกาแฟใส่นมอย่างน้อย 6 ตำแหน่ง, พบก้อนเนื้องอกตามผิวหนัง 2 ตุ่มขึ้นไป, พบกระที่บริเวณรักแร้หรือขาหนีบ, พบเนื้องอกของเส้นประสาทตา, พบเนื้องอกของม่านตา 2 แห่งขึ้นไป, พบความผิดปกติของกระดูก และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้    

          ส่วนโรคท้าวแสนปม ประเภทที่ 2 พบได้น้อยมาก ราว 1 ใน 50,000 ถึง 120,000 คน ผู้ป่วยจะไม่มีอาการทางผิวหนัง แต่จะพบเนื้องอกของหูชั้นใน และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้


* โรคลูคีเมีย (Leukemia)

ลูคีเมีย

          โรคลูคีเมีย หรือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของไขกระดูก ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวจำนวนมากในไขกระดูก จนเบียดบังการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ส่วนเม็ดเลือดขาวที่สร้างนั้น ก็เป็นเม็ดเลือดขาวตัวอ่อน จึงไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคได้ จึงเป็นไข้บ่อย ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคลูคีเมีย มีหลายปัจจัย ทั้งพันธุกรรม กัมมันตภาพรังสี การติดเชื้อ เป็นต้น

          อาการของผู้ป่วยลูคีเมีย จะแสดงออกมาในหลายรูปแบบ เช่น มีไข้สูง เป็นหวัดเรื้อรัง หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ตัวซีด เซลล์ลูคีเมียจะไปสะสมตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ทำให้เกิดอาการบวมโต บางคนเป็นรุนแรง ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

          การรักษาโรคลูคีเมีย ทำได้โดยให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดจำนวนเม็ดเลือดขาว หรืออาจใช้เคมีบำบัด เพื่อให้ไขกระดูกกลับมาทำหน้าที่ตามปกติ


* โรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน 

          โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลิน ทั้งนี้โรคเบาหวาน ถือเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง และเป็น โรคทางพันธุกรรม โดยหากพ่อแม่เป็นเบาหวาน ก็อาจถ่ายทอดไปถึงลูกหลานได้และนอกจากพันธุกรรมแล้ว สิ่งแวดล้อม วิธีการดำเนินชีวิต การรับประทานอาหาร ก็มีส่วนทำให้เกิดโรคเบาหวานได้เช่นกัน

          อาการทั่วไปของผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน คือจะปัสสาวะบ่อย เนื่องจากน้ำตาลที่ออกมาทางไตจะดึงเอาน้ำจากเลือดออกมาด้วย จึงทำให้มีปัสสาวะมากกว่าปกติ เมื่อถ่ายปัสสาวะมาก ก็ทำให้รู้สึกกระหายน้ำ ต้องคอยดื่มน้ำบ่อย ๆ และด้วยความที่ผู้ป่วย โรคเบาหวาน ไม่สามารถนำน้ำตาลมาเผาผลาญเป็นพลังงาน จึงหันมาเผาผลาญกล้ามเนื้อและไขมันแทน ทำให้ร่างกายผ่ายผอม ไม่มีไขมัน กล้ามเนื้อฝ่อลีบ อ่อนเปลี้ย เพลียแรง นอกจากนี้ การมีน้ำตาลคั่งอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ จึงทำให้อวัยวะต่าง ๆ เกิดความผิดปกติ และนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนมากมาย โดยเฉพาะ โรคไตวายเรื้อรัง, หลอดเลือดตีบตีน, อัมพฤกษ์ อัมพาต, ต้อกระจก, เบาหวานขึ้นตา ฯลฯ 

มาร์แฟน ซินโดรม (Marfan syndrome)

มาร์แฟนซินโดรม
ภาพจาก epainassist.com

          กลุ่มอาการมาร์แฟน ซินโดรม เกิดจากความผิดปกติของยีนเอฟบีเอ็นวัน (FBN1) ซึ่งอยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 15 มีหน้าที่สร้างโปรตีนฟิปริลลิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความแข็งแรงให้เนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย กล่าวคือ เป็นเนื้อเยื่อที่ยึดเป็นโครงความแข็งแรงของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้โครงกระดูกแข็งแรง ไม่หักง่าย ยึดโครงผิวหนังให้ยืดหยุ่นได้ดี แต่หากยีนตัวนี้ผิดปกติ จะทำให้กระดูกยาวกว่าปกติ ผู้ป่วยจะมีรูปร่างผอมสูง มีแขนยาว ขายาว และมีความผิดปกติที่ระบบอื่น ๆ ตามมา

          ทั้งนี้ความผิดปกติของยีนที่เกิดขึ้นพบได้ในอัตราส่วน 1 ใน 5,000 (ข้อมูลจาก U.S. National Library of Medicine) ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว 70% ถ่ายทอดต่อกันมาทางพันธุกรรม ส่วนอีก 30% เป็นการกลายพันธุ์ในตัวบุคคลนั้นเพียงผู้เดียว ไม่เกี่ยวกับความผิดปกติของยีนบิดา-มารดา แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็สามารถถ่ายทอดต่อไปให้บุตรหลานรุ่นหลังได้  
 

* โรค Hereditary Ovalocytosis 

          คือ ภาวะเม็ดเลือดแดงมีรูปร่างผิดปกติไป โดยมีรูปร่างกลมรีเหมือนรูปไข่สูงถึง 50-90% ของเซลล์เม็ดเลือดแดงทั้งหมด เกิดจากความผิดปกติของโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของเยื่อหุ้มเซลล์เม็ดเลือดแดง เป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรมชนิดยีนเด่น (Autosomal Dominant) เป็นส่วนมาก ดังนั้นผู้ป่วยโรค Hereditary Ovalocytosis ก็มีโอกาสถ่ายทอดความผิดปกติของยีนไปยังบุตรได้เช่นกัน โดยโอกาสที่บุตรจะมีความผิดปกติจะมีอัตราอยู่ที่ 1 ใน 2 ของการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง

          ผู้ป่วยจะมีอาการซีดเล็กน้อยถึงปานกลาง ไม่มีอาการตาเหลือง ตัวเหลืองมากจนเกินไป คล้ายกับอาการธาลัสซีเมียค่อนข้างมาก การวินิจฉัยโรคจึงอาจมีความสับสนระหว่างโรคธาลัสซีเมียกับโรค Hereditary Ovalocytosis เกิดขึ้นด้วย หรือบางเคสผู้ป่วยอาจเป็นทั้งโรค Hereditary Ovalocytosis และธาลัสซีเมียในคนเดียวกัน

          อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรค Hereditary Ovalocytosis ที่มีอาการรุนแรง มักจะพบภาวะซีดมาก ร่วมกับมีอาการอ่อนเพลีย เป็นเด็กโตช้า ถ้าตรวจลึก ๆ อาจพบอาการม้ามโต หรือตรวจเจอนิ่วในถุงน้ำดีได้ ส่วนในเคสหนัก ๆ ที่เข้าข่ายอันตรายก็มีภาวะเลือดเป็นกรด ส่งผลให้ไตวายจนอาจเสียชีวิตได้เลยทีเดียว



การป้องกันโรคทางพันธุกรรม

          โรคทางพันธุกรรม ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากกจะติดตัวไปตลอดชีวิต ทำได้แต่เพียงบรรเทาอาการไม่ให้เกิดขึ้นมากเท่านั้น ดังนั้นการป้องกันโรคทางพันธุกรรมที่ดีที่สุด คือ ก่อนแต่งงาน รวมทั้งก่อนมีบุตร คู่สมรสควรตรวจร่างกาย กรองสภาพทางพันธุกรรมเสียก่อน เพื่อทราบระดับเสี่ยง อีกทั้งโรคทางพันธุกรรมบางโรค สามารถตรวจพบได้ในช่วงก่อนตั้งครรภ์ จึงเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยให้ทารกที่จะเกิดมา มีความเสี่ยงในการเป็นโรคทางพันธุกรรมน้อยลง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

vcharkarn.com
sema.go.th
maceducation.com

ที่มา : Kapook.com