วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ประกาศแล้ว เพิ่มปลาหายากอีก 12 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ประกาศแล้ว เพิ่มปลาหายากอีก 12 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

          ไฟเขียว ! เพิ่มรายชื่อปลาหายากใกล้สูญพันธุ์อีก 12 ชนิด ทั้ง ปลากระเบนราหูน้ำจืด ปลากระเบนแมนด้ายักษ์ ปลาโรนิน ปลาฉนากปากแหลม เข้าบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามครอบครอง มีผลหลังประกาศราชกิจจานุเบกษา 60 วัน


ปลาหายาก
        หลังจากก่อนหน้านี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอรายชื่อสัตว์น้ำหายากใกล้สูญพันธุ์ 12 ชนิด เพื่อให้เข้าไปอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 นั้น

        ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ดร.ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ภาพเอกสารกฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ซึ่งเนื้อหาระบุให้สัตว์น้ำจำพวกปลาทั้ง 12 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สำหรับสัตว์ป่าคุ้มครองที่ประกาศเพิ่มเติมทั้ง 12 ชนิด ประกอบด้วย

1. ปลากระเบนปีศาจครีบโค้ง  (Mobula thurstoni)

         มีลักษณะเด่นตรงที่ขอบครีบอกสวนหน้าบิดโค้ง 2 ทาง มีรูหายใจอยู่ใต้รอยต่อครีบอกกับลำตัว ไม่มีเงี่ยง ส่วนคอสั้น ครีบส่วนหน้าสั้น หางยาว ความยาวเท่าความกว้างลำตัว โคนหางบีบขอดเข้าในแนวตั้ง ออกลูกครั้งละ 1 ตัว กินแพลงก์ตอนและปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร มักอาศัยตามชายฝั่งทะเล

2. ปลากระเบนปีศาจครีบสั้น (Mobula kuhlii) 

         มีลักษณะคล้ายปลากระเบนครีบโค้ง แต่มีหางสั้นกว่า ความยาวน้อยกว่าความกว้างลำตัว ส่วนตัดคอดหางเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนคอสั้น ครีบส่วนหน้าสั้นน้อยกว่า 16% ของความกว้างลำตัว ออกลูกครั้งละ 1 ตัว กินแพลงก์ตอนและปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร มักอาศัยตามชายฝั่งทะเล

3. ปลากระเบนปีศาจแคระ (Mobula eregoodootenkee)

         ลักษณะเด่นคือมีแถบสีดำพาดยาวบริเวณขอบของครีบอกส่วนหน้า ส่วนคอยาว ครีบส่วนหน้ายาวมากกว่า 16% ของความกว้างลำตัว แต่หางสั้นน้อยกว่าความกว้างของลำตัว ส่วนตัดของคอดหางเป็นรูปสี่เหลี่ยม ออกลูกครั้งละ 1 ตัว กินแพลงก์ตอนและปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร มักอาศัยตามชายฝั่งทะเล

4. ปลากระเบนปีศาจหางหนาม (Mobula japonica)

         เป็นปลากระเบนที่มีหางยาวมากกว่าความกว้างของลำตัว ซึ่งกว้างได้มากที่สุดถึง 3.1 เมตร มีรูหายใจอยู่เหนือและใกล้กับรอยต่อครีบอกกับลำตัว แต่อยู่ใต้สันกระดูกเหนือตา มีเงี่ยงอยู่ที่โคนหาง ออกลูกครั้งละ 1 ตัว กินแพลงก์ตอนและปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร มักอาศัยตามชายฝั่งทะเล

5. ปลากระเบนแมนด้าแนวปะการัง (Manta alfredi) หรือปลากระเบนราหูแนวปะการัง

ปลาหายาก


         ลักษณะเด่นอยู่ตรงที่ระหว่างซี่เหงือกและท้อง มีจุดลายเฉพาะกระจายทั่ว รอบปากด้านท้องมีสีขาวหรือเทาอ่อน ขอบปลายครีบอกส่วนท้ายอาจมีสีขาวหรือดำ ปลาชนิดนี้ไม่มีเงี่ยงและโคนหางเรียบ ไม่มีก้อนหินปูน ลายด้านบนส่วนหัวเป็นแถบสีดำรูปตัวอักษร Y ออกลูกครั้งละ 1-2 ตัว กินแพลงก์ตอนและปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร มักอาศัยตามชายฝั่งทะเล

6. ปลากระเบนแมนด้ายักษ์ (Manta birostris) หรือปลากระเบนราหูยักษ์

ปลาหายาก
         สามารถมีขนาดกว้างที่สุดถึง 7 เมตร ด้านท้องมีจุดลายเฉพาะ ในปากและรอบปากด้านท้องมีสีเข้มดำ ขอบปลายครีบอกส่วนท้ายและขอบล่างของซี่เหงือกคู่ที่ 5 มีสีเข้มดำ โคนหางมีลักษณะโปน นูนขึ้นมาเป็นก้อนหินปูน ลายด้านส่วนหัวเป็นแถบสีดำรูปตัวอักษร T ออกลูกครั้งละ 1-2 ตัว กินแพลงก์ตอนและปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร มักอาศัยตามชายฝั่งทะเล

7. ปลากระเบนราหูน้ำจืด หรือปลากระเบนเจ้าพระยา (Himantura chaophraya)

         เป็นปลากระเบนน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และใหญ่เป็นอันดับ 2 หากเทียบกับปลากระเบนแมนตาที่พบได้ในทะเล โดยสามารถมีน้ำหนักได้ถึง 600 กิโลกรัม มีลักษณะตัวเกือบเป็นรูปวงกลม ส่วนหางเรียวยาวเหมือนแส้ ไม่มีริ้วหนัง มีเงี่ยงแหลมที่โคนหาง 2 ชิ้น แต่ส่วนปลายหัวแหลม ขอบด้านหน้ามนกลมคล้ายใบโพธิ์ บริเวณเงี่ยงของปลากระเบนราหูน้ำจืด มีสารเคมีคล้ายเมือกลื่น ๆ ที่มีพิษอยู่ หากถูกแทงเข้าอาจเสียชีวิตได้ ปลาชนิดนี้พบอาศัยอยู่ตามแม่น้ำสายใหญ่ ๆ จนถึงบริเวณใกล้ปากแม่น้ำ ออกลูกครั้งละ 2–3 ตัว

8. ปลาโรนิน หรือปลากระเบนท้องน้ำ (Rhina ancylostoma)

         เป็นปลาที่มีส่วนหัวขนาดใหญ่ รูปทรงแบนกลมและโค้งมน ปากกลม ครีบอกแผ่กว้าง ครีบหลังตั้งสูงเป็น 2 ตอน บริเวณเหนือตามีสันเป็นหนาม ตรงกลางหลังด้านหน้าของครีบหลังมีหนามเรียงตัวกันเป็นแถวชัดเจน พื้นผิวลำตัวด้านบนมีสีเทาอมน้ำตาล มีแต้มเป็นจุดสีขาวจาง ๆ กระจายอยู่ทั่วตัว อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินทรายปนโคลน นับเป็นปลาหายากชนิดหนึ่งที่มักถูกคนที่มีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ล่าไปทำหัวแหวนหรือนำมาห้อยคอ

9. ปลาฉนากเขียว (Pristis pristis)

มีฟันขึ้นตั้งแต่โคนจะงอยปาก และระยะห่างฟันแต่ละซี่ไม่เท่ากัน แนวครีบหลังอันแรกอยู่เหนือแนวครีบท้อง ครีบหางส่วนล่างมีขนาดเล็กมากหรือไม่ ออกลูกครั้งละ 1-12 ตัว มักอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ แม่น้ำ ทานปลาตัวเล็กหรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นอาหาร 

10. ปลาฉนากปากแหลม (Anoxypristis cuspidata)

         มีลักษณะเด่นคือ บริเวณโคนจะงอยปากไม่มีฟันขึ้น แนวครีบหลังอันแรกอยู่หลังแนวครีบท้องเล็กน้อย ครีบหางส่วนลางมีลักษณะแตกต่างกันชัดเจน ออกลูกครั้งละ 1-20 ตัว มักอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ แม่น้ำ ทานปลาตัวเล็กหรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นอาหาร 

11. ปลาฉนากฟันเล็ก  (Pristis zijsron)

         ลักษณะเด่นอยู่ที่ฟัน มีฟันขึ้นตั้งแต่โคนจะงอยปาก และระยะห่างฟันแต่ละซี่ไม่เท่ากัน แนวครีบหลังอันแรกอยู่เหนือแนวครีบท้องเล็กน้อย ออกลูกครั้งละ 15-20 ตัว มักอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ แม่น้ำ ทานปลาตัวเล็กหรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นอาหาร 
 
12. ปลาฉนากยักษ์ (Pristis pectinata)

         ลักษณะคล้ายปลาฉนากฟันเล็ก แต่ระยะห่างฟันแต่ละซี่เท่ากัน มีแนวครีบหลังอันแรกอยู่เหนือแนวครีบท้อง ครีบหางส่วนล่างมีขนาดเล็กกว่าส่วนบน ออกลูกครั้งละ 1-13 ตัว  มักอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ แม่น้ำ ทานปลาตัวเล็กหรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นอาหาร 

         ทั้งนี้ สัตว์ป่าคุ้มครอง คือ สัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์ตามบัญชีแนบท้าย กฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ถือเป็นสัตว์ที่ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้า-ส่งออก รวมทั้งห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามครอบครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ประกอบด้วยสัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 201 ชนิด นก 952 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 91 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด แมลง 20 ชนิด สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ 12 ชนิด และปลา ซึ่งเพิ่มจาก 14 ชนิด เป็น 26 ชนิด

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

ที่มา : Kapook.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น