วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2560

โครงการพระราชดำริด้านสมุนไพร อีกหนึ่งพระราชกรณียกิจในหลวง รัชกาลที่ 9

โครงการพระราชดำริด้านสมุนไพร อีกหนึ่งพระราชกรณียกิจในหลวง รัชกาลที่ 9



โครงการพระราชดําริ

          โครงการพระราชดำริด้านสมุนไพรของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่เกิดจากสายพระเนตรอันยาวไกล พัฒนาทั้งสมุนไพรไทยและผสานหลักเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งหลักการเกษตรเข้าไว้ด้วยกัน

          เป็นที่ทราบกันดีมาตลอดเวลาว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชกรณียกิจนับพัน ๆ โครงการ แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อประชาชนชาวไทยมาอย่างยาวนาน และหนึ่งในโครงการพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่เราอยากนำเสนอให้ชาวไทยทุกคนได้รู้และศึกษากันอีกโครงการหนึ่งก็คือ โครงการพระราชดำริด้านสมุนไพร ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 

          โดยนอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จะทรงมีโครงการพระราชดำริด้านสาธารณสุขไทยหลายต่อหลายสาขาแล้ว ยังทรงสนพระราชหฤทัยในด้านสมุนไพรไทย ที่ได้ใช้ประโยชน์มาเป็นเวลานานตั้งแต่อดีต จึงทรงมีพระราชดำริว่าควรจะต้องมีการส่งเสริมการใช้และพัฒนาสมุนไพรเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยพระองค์ได้ทรงดำเนินการเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ดังนั้นจะเห็นได้จากโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษา พัฒนา และอนุรักษ์สมุนไพรที่เกิดขึ้นหลายโครงการ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

          1. โครงการที่เกิดจากพระราชดำริโดยแท้จริง 

          2. โครงการที่เกิดขึ้นโดยหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการจัดทำขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริ

โครงการที่เกิดจากพระราชดำริโดยแท้จริง อันได้แก่

โครงการพระราชดําริ

โครงการสวนป่าสมุนไพรของศูนย์การศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 

          ตั้งอยู่ที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งในปี พ.ศ. 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่จำนวน 15 ไร่ จัดสร้างสวนป่าสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ไว้ศึกษาวิจัยทางวิชาการเพื่อเผยแพร่การใช้ประโยชน์ และเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ โดยในปัจจุบันมีพรรณพืชในสวนป่าแห่งนี้อยู่กว่า 731 ชนิดด้วยกัน

- โครงการพระราชดำริเพื่อการศึกษาวิจัยสมุนไพรที่ใช้กับโรคมะเร็ง

          “ฉันไม่สบายใจมากที่คนไทยของฉันเป็นมะเร็งตายกันมาก” จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน เนื่องจากมีอัตราการตายด้วยโรคมะเร็งมากขึ้นเรื่อย ๆ นายแพทย์นพรัตน์ บุณยเลิศ จึงได้ทำการค้นคว้าทดลองและคิดค้นตำรับยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ หลายตำรับ และใช้รักษาผู้ป่วยอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยสมุนไพรที่ใช้ในตำรับของนายแพทย์นพรัตน์ ก็เช่น ทองพันชั่ง (หญ้ามันไก่), ฟ้าทะลาย (ฟ้าทะลายโจร), ผักบุ้ง (ผักทอดยอด) และหญ้าผมยุ่ง เป็นต้น

โครงการพระราชดำริที่เกิดขึ้นโดยหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการจัดทำขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริ

          เป็นโครงการพระราชดำริที่เกิดขึ้นโดยหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการจัดทำขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริ ซึ่งนอกจากจะเป็นโครงการพัฒนาสมุนไพรให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุดแล้ว ยังมีจุดประสงค์ในการจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ราบสูงอีกด้วย โดยโครงการพระราชดำริด้านสมุนไพรที่เกิดขึ้นโดยหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการจัดทำขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริก็มีดังนี้

โครงการพระราชดําริ

- โครงการหลวง ดอยคำ

          มีจุดประสงค์เพื่อให้ชาวเขามีอาชีพทำกิน อันเป็นการแก้ปัญหายาเสพติดและการตัดไม้ทำลายป่า ด้วยการส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชอื่น ๆ ทดแทนฝิ่น จนกระทั่งมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรของมูลนิธิโครงการหลวงเกิดขึ้นมากมายหลายชนิด ในรูปผลิตภัณฑ์ดอยคำ

โครงการพระราชดําริ

- โครงการภายใต้มูลนิธิโครงการหลวง

          ซึ่งได้ดำเนินการผสมผสานร่วมกับผลิตภัณฑ์การเกษตรอื่น ๆ และผลิตอาหาร เช่น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue Culture) เพื่อเพิ่มผลผลิต โดยไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่เพาะปลูกมากเกินไป การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีชีวภาพอื่น ๆ เช่น การใช้ประโยชน์จากจุลชีพเพื่อการผลิต นอกจากนี้ยังมีโครงการทดลอง และห้องปฏิบัติการเพื่อการวิจัยและพัฒนาสำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร และการเกษตรในบริเวณพระราชวังสวนจิตรลดา ซึ่งทรงให้ใช้พื้นที่อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดทุกหย่อมหญ้า 

          โดยตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรภายใต้มูลนิธิโครงการหลวงที่ได้ใช้เทคโนโลยีพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถวางจำหน่ายในท้องตลาดได้จริงก็อย่างเช่น เห็ดหลินจือสกัดในรูปเห็ดหลินจือกระป๋อง และน้ำสมุนไพรอื่น ๆ เช่น น้ำกระเจี๊ยบ เป็นต้น 

โครงการพระราชดําริ

- สวนซิงโคนา ดอยสุเทพ

          ตั้งขึ้นในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้ใช้เป็นที่ทำการทดลองปลูกพืชสมุนไพร จึงได้มีการนำต้นซิงโคนา (ควินิน) มาทดลองปลูก ทำการวิจัยและขยายพันธุ์ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทดลองสมุนไพรอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย

โครงการพระราชดําริ

- สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย 

          ตั้งอยู่ที่ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทดลองรูปแบบระบบการปลูกพืชต่าง ๆ ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ อาทิ ระบบการปลูกพืชโดยมีไม้ผลเป็นหลัก การทำการเกษตรแบบยั่งยืน ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตร และการลดการใช้สารเคมี อีกทั้งยังจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดทำแปลงรวบรวมพันธุ์ไม้หายาก พันธุ์ไม้หอมเฉลิมพระเกียรติ สมุนไพร รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรอีกด้วย

โครงการพระราชดําริ

- สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
          ตั้งอยู่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่รวม 3,500 ไร่ เป็นศูนย์วิชาการและบริการด้านพฤกษศาสตร์ของประเทศ เพื่อรวบรวมพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงอนุรักษ์พันธุ์พืชในประเทศไทย โดยเฉพาะไม้ประจำถิ่น กล้วยไม้ ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ไม้สมุนไพร ไม้หายาก และไม้ที่กำลังจะสูญพันธุ์ ตลอดจนการดำเนินการขยายพันธุ์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นเพื่อการศึกษาในอนาคต
โครงการพระราชดําริ

- สวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

          ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง ดำเนินการสร้างขึ้นโดยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย มีพื้นที่ 60 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมความรู้ในเรื่องพืชสมุนไพร โดยรวบรวมพันธุ์พืชต่าง ๆ ผลิตและขยายพันธุ์สมุนไพรบางชนิดที่ได้มีการพิสูจน์สรรพคุณทางยา และเป็นสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ภายในสวนมีการจัดปลูกพืชสมุนไพรเป็นหมวดหมู่จำแนกตามสรรพคุณออกเป็น 20 อาการโรค

โครงการพระราชดําริ

- อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ 

          โครงการวิจัยสมุนไพรทุกด้าน รวมทั้งโครงการปลูกสวนสมุนไพรเพื่อการศึกษา ตั้งอยู่ในพื้นที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 

          นอกจากจุดประสงค์ในการต่อยอดและพัฒนาสมุนไพรให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่แล้ว โครงการพระราชดำริด้านสมุนไพรยังช่วยพลิกฟื้นผืนดินและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยไปพร้อม ๆ กันด้วย จนอาจกล่าวได้ว่า การนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 นี้ แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องกับปรัชญาในการพัฒนาสังคมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 5 ประการ คือ

          1. การส่งเสริมศักยภาพในการพึ่งตนเองของประชาชน
          2. การอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์
          3. การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย
          4. เศรษฐกิจพอเพียง
          5. การพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ 

          ปัจจุบันโครงการพระราชดำริด้านสมุนไพรต่าง ๆ ได้ศึกษาและค้นคว้าพืชสมุนไพรนานาชนิดเป็นจำนวนมาก และได้ผลผลิตออกมาในหลายรูปแบบด้วยกัน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และส่งเสริมให้คนไทยทุกคนได้มีสมุนไพรดี ๆ ไว้อุปโภคบริโภค นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้จริง ๆ นะคะ
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
มูลนิธิชัยพัฒนา
สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ที่มา Kapook.com

วันอังคารที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560

5 พระราชวัง วัง และพระตำหนักสำคัญ สถานที่แห่งความผูกพันของ ในหลวง ร.9

5 พระราชวัง วัง และพระตำหนักสำคัญ สถานที่แห่งความผูกพันของ ในหลวง ร.9

พระราชวัง วัง และพระตำหนักสำคัญ

          รวบรวม 5 พระราชวัง วัง และพระตำหนักที่มีความผูกพันกับ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ชวนไปเที่ยวชมและตามรอยพ่อหลวง

          ในผืนแผ่นดินไทยคงไม่มีที่ไหนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยือน ซึ่งแต่ละสถานที่ที่พระองค์เสด็จฯ ไปก็มีความสวยงามและน่าสนใจแตกต่างกันไป แต่วันนี้เราจะพาไปตามรอยเที่ยวพระราชวัง วัง และพระตำหนัก ที่มีความสำคัญและผูกพันกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกันบ้างค่ะ
1. พระบรมมหาราชวัง

พระราชวัง วัง และพระตำหนักสำคัญ

          ในปีพุทธศักราช 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระบรมราชโองการให้สร้างพระนครและสถาปนาพระราชมณเฑียรสถานทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยแรกเริ่มนั้นสร้างทำแค่พอเป็นที่ประทับ ล้อมรอบด้วยปราการระเนียดไม้สำหรับตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษก หลังจากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างปราสาทราชมณเฑียร พระตำหนัก  เรือนหลวง โดยครบถ้วน รวมทั้งพระอารามในเขตพระราชฐานสำหรับประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระราชทานนามว่า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

          นับแต่มีการสร้างพระบรมมหาราชวัง สถานที่นี้ก็ได้เป็นพระราชฐานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และเป็นศูนย์กลางการปกครองของบ้านเมือง อีกทั้งยังเป็นสถานที่ซึ่งทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินและทรงประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ตามโบราณราชประเพณี โดยมีสถานที่สำคัญภายในพระบรมมหาราชวัง อาทิ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, พระที่นั่งบรมพิมาน, พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท, พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นต้น

          เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในพระบรมมหาราชวังและเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้นมีมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ 4-8 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493

          การเข้าเที่ยวชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สามารถเข้าเที่ยวชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ปิดการจำหน่ายตั๋วเวลา 15.30 น. นักท่องเที่ยวชาวไทยเข้าชมฟรี ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต้องซื้อตั๋วชุด ชุดละ 500 บาท/ท่าน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักพระราชวัง โทรศัพท์ 0 2623 5500 ต่อ 3100 และเว็บไซต์ palaces.thai.net

2. วังสระปทุม
พระราชวัง วัง และพระตำหนักสำคัญ

          วังสระปทุม ปัจจุบันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เดิมทีวังสระปทุมแห่งนี้เคยเป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2459-2498 จากนั้นก็ได้มาเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หลังจากที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

          ในวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493 ได้มีการประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ วังสระปทุมแห่งนี้ ถือได้ว่าที่นี่เป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยเลยทีเดียว

          เนื่องด้วยปัจจุบันวังสระปทุมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การเข้าเยี่ยมชมจึงต้องได้รับพระราชทานพระราชานุญาตเสียก่อน ติดตามข่าวสารวังสระปทุมและพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้ที่ เฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า : Queen Savang Vadhana Museum

3. พระที่นั่งอนันตสมาคม

พระราชวัง วัง และพระตำหนักสำคัญ

          พระที่นั่งอนันตสมาคม เริ่มก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปีพุทธศักราช 2450 เพื่อเป็นที่รับรองแขกเมืองและประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน ตัวอาคารมีลักษณะเป็นอาคารหินอ่อนแบบโดมคลาสสิกโรมัน ผสานศิลปะอิตาเลียนเรอเนอซองส์และแบบนีโอคลาสสิก โดยมีมิสเตอร์ เอ็ม.ตามานโย (M.Tamango) ช่างจากอิตาลีเป็นผู้ออกแบบ นายซี อัลเลกรี เป็นวิศวกร และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง ซึ่งนอกจากสถาปัตยกรรมของที่นี่จะงดงามมาก ๆ แล้ว บริเวณรอบ ๆ ยังร่มรื่นไปด้วยสวนสวยและต้นไม้นานาพรรณ

          ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2549 ได้มีการจัดพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยมีพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร ระเบียงหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งมีพสกนิกรชาวไทยรอรับเฝ้าเสด็จมากมาย กลายเป็นเรื่องราวที่สุดแสนจะประทับใจและเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญอีกหนึ่งเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไทย

4. พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์

พระราชวัง วัง และพระตำหนักสำคัญ
ภาพจาก Sirichai Puangsuwan / shutterstock.com

          พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ตั้งอยู่บนดอยบวกห้า ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 2504 เพื่อใช้เป็นที่ประทับในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรมที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อทรงงาน และเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตภาคเหนือ รวมทั้งเพื่อรับรองพระราชอาคันตุกะที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยในโอกาสต่าง ๆ

          พระตำหนักแห่งนี้มีลักษณะเป็นแผนผังแบบเรือนไทยภาคกลางที่เรียกว่าเรือนหมู่ มีสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์ รายล้อมไปด้วยสวนดอกไม้อันสวยงาม โดยเฉพาะดอกกุหลาบ ที่มีให้ชมมากมายหลากหลายสายพันธุ์และสีสัน สร้างบรรยากาศสุดแสนจะโรแมนติกและผ่อนคลายให้กับพระตำหนักแห่งนี้ อากาศที่นี่จะเย็นสบายตลอดทั้งปี เพราะตั้งอยู่บนภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลมากถึง 1,373.197 เมตร

          การเข้าเยี่ยมชมพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จะต้องแต่งกายให้สุภาพ สามารถเข้าเที่ยวชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. (ปิดจำหน่ายบัตร 15.30 น.) สอบถามรายละเอียดได้ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ โทรศัพท์ 0 5322 3065 หรือที่เว็บไซต์ bhubingpalace.org

5. พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

          พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตั้งอยู่ในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เนื้อที่ประมาณ 395 ไร่ เป็นพระตำหนักที่มีภูมิทัศน์ที่สวยงามร่มรื่น รายล้อมไปด้วยท้องนาสีเขียวขจี ไร่หม่อน สวนป่า และต้นไม้นานาพรรณ

          พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นพระตำหนักที่สร้างขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ที่นี่เป็นสถานที่สำหรับทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ ทั้งจะได้เป็นที่ซึ่งราชเสวกจะได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นส่วนพระองค์และส่วนตัว พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีวางศิลาพระฤกษ์พระตำหนักนั้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2456 ได้พระราชทานนามว่า สวนจิตรลดา และพระราชทานนามพระตำหนักว่า พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

          ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดที่จะทรงใช้พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นที่ประทับถาวร จึงมีการต่อเติมพระตำหนักหลายครั้ง ในปีพุทธศักราช 2501 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนขึ้นภายในบริเวณสวนจิตรลดา เพื่อให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทรงศึกษาเล่าเรียน พระราชทานนามว่า โรงเรียนจิตรลดา

          นอกจากนี้ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานยังมีโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ซึ่งเป็นแหล่งวิจัยและให้ความรู้เกี่ยวกับการเกษตรแก่ประชาชนชาวไทย โดยภายในโครงการจะมีโรงโคนมสวนจิตรลดา, โรงสีข้าว, โรงกระดาษสา, แปลงนาข้าว และอื่น ๆ ให้ได้เข้าเที่ยวชม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 2282 8200

          สำหรับทั้ง 5 สถานที่นี้ นอกจากจะเป็นสถานที่ในความผูกพันของในหลวง รัชกาลที่ 9 แล้ว ก็ยังมีสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ที่สวยงามและน่าสนใจ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่จะทำให้คนไทยได้ลำรึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อีกด้วย :) 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
rspg.orglib.su.ac.thbhubingpalace.orgweb.ku.ac.thrspg.or.th

ที่มา Kapook.com

วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ร้านโครงการหลวง แหล่งรวมอาหารเพื่อสุขภาพ

3 ร้านโครงการหลวง แหล่งรวมอาหารเพื่อสุขภาพ ส่งความห่วงใยถึงคนไทยทั้งปวง

ร้านโครงการหลวง

          ร้านโครงการหลวง หนึ่งในโครงการพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า คนซื้อได้สุขภาพดี ๆ คนขายก็มีรายได้

          สินค้าจากโครงการหลวงการันตีได้ถึงคุณภาพ และความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะในหมวดอาหารเพื่อสุขภาพ จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนจะตามหาร้านโครงการหลวงว่ามีสาขาไหนบ้าง ดังนั้นกระปุกดอทคอมจึงขอรวบรวมร้านโครงการหลวงที่จำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพจากโครงการหลวงมาฝาก มาดูกันค่ะว่าเราจะซื้อสินค้าโครงการหลวงได้จากที่ไหน ยังไงบ้าง
ร้านโครงการหลวง
ภาพจาก suvarnachad.co.th 

1. Golden Place 

          ร้าน โกลเด้น เพลซ เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นต้นแบบร้านค้าปลีกสำหรับคนไทย โดยเปรียบได้ว่าร้านโกลเด้น เพลซ เป็น “ตู้เย็น” ของประชาชนในแต่ละพื้นที่ สินค้าที่จำหน่ายในโกลเด้น เพลซจึงมีความหลากหลาย และราคาไม่แพง เพราะเน้นการนำสินค้าปลอดสารพิษจากเกษตรกรมาเข้าสู่ธุรกิจการค้าปลีกอย่างยั่งยืน และยังเป็นการส่งเสริมให้การผลิตสินค้าของเกษตรกรมีคุณภาพสม่ำเสมอ สอดคล้องกับสโลแกนของร้านที่ว่า “นึกถึงสุขภาพ นึกถึงโกลเด้น เพลซ”

          ทั้งนี้ โกลเด้น เพลซ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท สุวรรณชาด จำกัด ในพระราชูปถัมภ์ มีจุดขายของร้านในด้านสินค้าปลอดสารพิษ ของสดใหม่จากเกษตรกรผู้ผลิตโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ผัก หรือผลไม้ ร้านโกลเด้น เพลซ จึงเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังมีการให้ความรู้แก่เกษตรกรในด้านการแปรรูปสินค้า รวมทั้งส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดสารพิษตามมาตรฐานสากล เกษตรกรจึงสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และยังช่วยเพิ่มมูลค้าสินค้าเกษตรในรูปแบบเกษตรอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดการจ้างงานในกลุ่มเกษตรกรมากขึ้น รายได้ของประชากรโดยรวมก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย 

ร้านโครงการหลวง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จทอดพระเนตรกิจการร้านโกลเด้นเพลส ที่โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2557 

          และแน่นอนค่ะว่าเมื่อมีการวัดคุณภาพสินค้า มีการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรแบบปลอดสารพิษ 100% แบบนี้ สิ่งที่ผู้บริโภคจะได้จากร้านโกลเด้น เพลซ ก็คือ อาหารเพื่อสุขภาพคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสมอีกด้วย โดยสินค้าในโกลเด้น เพลซ ก็มีตั้งแต่ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ชาชนิดต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อาหารแปรรูปเพื่อสุขภาพ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ในหมวดอาหารเสริม ยา และของใช้ภายในบ้าน เรียกได้ว่าเป็นซูเปอร์มาเก็ตเพื่อคนรักสุขภาพจากความหวังดีของพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ตามแนวพระราชดำริของพระองค์อย่างแท้จริง

          ส่วนใครอยากรู้ว่า โกลเด้น เพลซ มีสาขาไหนบ้าง สามารถคลิกอ่านจากลิงก์ด้านล่างเลยค่

          โกลเด้น เพลซ สาขาต่าง ๆ

ร้านโครงการหลวง

2. ร้านโครงการหลวง

          ร้านโครงการหลวงเป็นร้านค้าที่อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง โดยจุดเริ่มต้นของมูลนิธิโครงการหลวงเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 เมื่อนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรวิถีชีวิตของชาวเขาที่บ้านดอยปุย ใกล้ตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ซึ่งทำให้พระองค์ทรงทราบถึงปัญหาการทำเกษตรของชาวเขา ซึ่งไม่รู้จะปลูกพืชผลอะไรในพื้นที่เขตหนาว จึงได้แต่ปลูกฝิ่น และท้อพันธุ์พื้นเมืองซึ่งมีขนาดเล็ก ชีวิตความเป็นอยู่จึงไม่ค่อยดี ดังนั้นพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงพระราชทานเงินจำนวน 200,000 บาท ให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อจัดหาที่ดินดำเนินงานวิจัยผลไม้เขตหนาวขึ้นมา

          โดยเริ่มแรกนั้น โครงการหลวงเป็นโครงการส่วนพระองค์ โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งผู้อำนวยการ ซึ่งในขณะนั้น โครงการหลวงมีชื่อเต็ม ๆ ว่า โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ รวมกับเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายสำหรับเป็นงบประมาณดำเนินงานต่าง ๆ ในโครงการ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช มีพระราชดำรัสในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2517 ความว่า...
      
          “เรื่องที่จะช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขา เพื่อจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถที่จะเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้ของเขาเอง ที่มีโครงการนี้ จุดประสงค์อย่างหนึ่งก็คือ มนุษยธรรม หมายถึง ให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร สามารถที่จะมีความรู้และพยุงตัว มีความเจริญก้าวหน้าได้ อีกอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่าควรจะช่วยเพราะเป็นปัญหาใหญ่คือ ปัญหาเรื่องยาเสพติด ถ้าสามารถช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์บ้าง เขาจะเลิกปลูกยาเสพติด คือ ฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับการปราบปรามการปลูกฝิ่นและการค้าฝิ่นได้ผลดี อันนี้ก็เป็นผลอย่างหนึ่ง ผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมาก็คือ ชาวเขาตามที่รู้เป็นผู้ที่ทำการเพาะปลูกโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยชาวเขา ก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี ความอยู่ดีกินดี และปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ เพราะถ้าสามารถทำโครงการนี้ได้สำเร็จ ให้เขาอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง สามารถที่จะมีความอยู่ดีกินดีพอสมควร และสนับสนุนนโยบายที่จะรักษาป่าไม้ รักษาดินให้เป็นประโยชน์ต่อไป ประโยชน์อันนี้ก็จะยั่งยืนมาก”

ร้านโครงการหลวง

          จะเห็นได้ว่าโครงการหลวงมีจุดประสงค์หลักในการช่วยชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา ช่วยให้เขามีอาชีพเกษตรกรอย่างถูกต้อง ลดปัญหาฝิ่นที่เป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง ลดปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย อีกทั้งโครงการหลวงยังช่วยเพิ่มทักษะอาชีพในการแปรรูปสินค้าเกษตรกรรม ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้และเป็นการสร้างงานให้ชาวเขามากขึ้นด้วย

ร้านโครงการหลวง

ร้านโครงการหลวง

          อย่างไรก็ตาม มูลนิธิโครงการหลวงก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2535 โดยพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จดทะเบียนโครงการหลวงขึ้นเป็นมูลนิธิโครงการหลวง โดยพระราชทานเงินเพื่อเป็นทรัพย์สินของมูลนิธิฯ เริ่มแรก 500,000 บาท เพื่อให้เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่มั่นคงถาวร สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง มีการบริหารงานอย่างคล่องตัว โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิฯ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงเป็นประธานมูลนิธิฯ และมี ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นเลขาธิการมูลนิธิฯ

          ได้ทราบประวัติควาเป็นมาของมูลนิธิโครงการหลวงกันคร่าว ๆ แล้ว เรามาดูกันบ้างค่ะว่า ในร้านโครงการหลวงจะมีสินค้าเพื่อสุขภาพอะไรบ้าง 

สินค้าเพื่อสุขภาพในร้านโครงการหลวง

          หากใครเคยผ่านเข้าไปนร้านโครงการหลวงจะเห็นได้เลยว่ามีสินค้าเพื่อสุขภาพจำหน่ายอยู่เยอะมาก โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่สินค้าจากโครงการหลวงได้ตามนี้เลยค่ะ

ร้านโครงการหลวง

          - ผัก เช่น ผักสด ผักพื้นเมืองภาคเหนือ ผักที่ปลูกได้ในเขตพื้นที่หนาว เช่น สตรอว์เบอร์รี ซาโยเต้ บีทรูท หรืออาร์ติโช้ค เป็นต้น

          - สมุนไพร เช่น ใบไทม์ พาร์สเลย์ คาโมมายล์ ลาเวนเดอร์ สเปียร์มินต์ ออริกาโน เป็นต้น

          - เห็ด เช่น เห็ดแชมปิญอง เห็ดซูงิตาเกะ เห็นนางฟ้าภูฏาน เห็ดนางรมดอย เห็ดหอมสด เป็นต้น

          - พืชไร่ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวกล้องดอยสีแดง ข้าวกล้องดอยหอมนิล ข้าวซ้อมมือ ข้าวเหนียวก่ำ งาดำ งาหอม ถั่วแดงหลวง เป็นต้น

          - ชา เช่น ชาคาโมมายล์อบแห้งพร้อมชง ชาอู่หลง ชาเขียว (อ่างขาง) เป็นต้น

ร้านโครงการหลวง

          - กาแฟ เช่น กาแฟคั่วโครงการหลวง กาแฟคั่วดอยคำ เป็นต้น

          - ผลไม้ เช่น กีวี่ พีช พลัม บ๊วยเขียว ลูกพลับ มัลเบอร์รี สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน เป็นต้น

          - ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เช่น กรีกโยเกิร์ต ข้าวเกรียบแครอท ขนมปังฟักทอง คุกกี้ชาอู่หลง เป็นต้น

          - ดอกไม้กินได้ เช่น ดอกผักชี ดอกมินต์ ดอกลาเวนเดอร์ ดอกเบซิล เป็นต้น

          - ปศุสัตว์ เช่น หมูรมควัน ไก่ต๊อก ไก่ฟ้า ไก่เบรสฝรั่งเศส เป็นต้น

          - ประมง เช่น ปลาเทราต์ คาเวียร์ กุ้งก้ามแดง ปูขน เป็นต้น

          - ดอกไม้ 

          - ไม้ตัดใบ

          - เครื่องสำอาง & สปา

          ผลิตภัณฑ์ในโครงการหลวงมีมากมายจริง ๆ นะคะ ทั้งสินค้าบริโภคและอุปโภคเลยทีเดียว ใครอยากไปเลือกซื้ออาหารเพื่อสุขภาพที่ส่งตรงจากเกษตรกรผู้ผลิต การันตีได้ถึงคุณภาพและความสะอาดปลอดภัย สามารถไปเลือกซื้อได้ตามร้านโครงการหลวงสาขาต่าง ๆ ได้เลย

          ร้านโครงการหลวง สาขาต่าง ๆ
ร้านโครงการหลวง
ภาพจาก ร้านดอยคำ

3. ร้านดอยคำ

          “เกษตรเพื่อชุมชน ผลิตผลเพื่อคนไทย” นี่คือสโลแกนเข้าใจง่ายของดอยคำ โดยจุดเริ่มต้นของดอยคำเกี่ยวเนื่องกับโครงการหลวงอยู่พอสมควรค่ะ กล่าวคือ หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้จัดตั้งมูลนิธิโครงการหลวงขึ้นมา ช่วยส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชผัก ผลไม้หลากชนิดทดแทนการปลูกฝิ่นซึ่งเป็นยาเสพติดได้สำเร็จแล้ว ทว่าแหล่งปลูกพืชผลเกษตรกรรมอยู่ห่างไกลจากตลาดรับซื้อ จึงเกิดปัญหาพ่อค้าคนกลางที่มากดราคาผลิตผลของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ไม่เป็นธรรม 

          อีกทั้งในบางฤดูจะมีผลผลิตล้นตลาด หรือบางครั้งผลผลิตที่ได้ก็ไม่ได้ขนาดที่เหมาะสมในการจำหน่ายเป็นผลสด ดังนั้นในปี พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง "สหกรณ์ชาวเขา" และ "โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป" แห่งแรกขึ้น เพื่อช่วยรับซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม โดยนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในเครื่องหมายการค้า "ดอยคำ"เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนจัดหาช่องทางกระจายสินค้าสู่ตลาด รวมถึงจัดให้มีการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารตามแนวพระราชดำริ "อุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการพัฒนาชนบท" 

ร้านโครงการหลวง
 ภาพจาก ร้านดอยคำ

          ต่อมา ในปี พ.ศ. 2537 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชกระแสให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รับช่วงดำเนินกิจการโรงงานหลวงฯ ต่อจากมูลนิธิโครงการหลวง โดยจัดตั้งเป็นนิติบุคคลภายใต้ชื่อ "บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด" โดยมีจุดมุ่งหมายขององค์กรในด้านการรับซื้อ พัฒนา และแปรรูปผลผลิตของเกษตรกรให้เป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพระดับพรีเมียมในราคาที่จับต้องได้ นับว่าเป็นผู้นำธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำผลไม้ และอาหารแปรรูปเพื่อสังคมไทยโดยแท้จริง

          หลายคนอาจเคยซื้อผลิตภัณฑ์ดอยคำมาบริโภคกันอยู่บ่อยครั้ง แล้วทราบไหมคะว่า ดอยคำ ไม่ได้มีแค่น้ำผลไม้เท่านั้นนะ แต่สินค้าในร้านดอยคำยังมีทั้งผลไม้อบแห้ง น้ำผึ้ง นมถั่วเหลืองและสมุนไพรผง แยมต่าง ๆ น้ำผลไม้เข้มข้น ข้าวกล้องและสมุนไพรแห้ง รวมไปถึงผลไม้ในน้ำเชื่อม และเห็ดเผาะในน้ำเกลือบรรจุกระป๋องเลยล่ะค่ะ
      
ร้านโครงการหลวง
 ภาพจาก ร้านดอยคำ

          ใครสนใจอยากไปเลือกซื้อสินค้าดอยคำเพื่อสนับสนุนเกษตรกรไทย แลกกับการได้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพคุณภาพระดับพรีเมียมในราคาไม่แพงจนเกินไป ก็ลองไปเลือกชมสินค้าในร้านดอยคำได้ตามสาขาที่ใกล้บ้านเลย

          ร้านดอยคำ สาขาต่าง ๆ

          ทั้ง 3 ร้านนี้ก็เป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยได้บริโภคอาหารคุณภาพดี ปลอดภัยต่อสุขภาพ และในขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยยกระดับชีวิตเกษตรกรทั้งในเขตพื้นที่สูง และเกษตรกรทั่วประเทศด้วยนะคะ อย่างไรก็ตาม กระปุกดอทคอมขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ด้วยความอาลัยยิ่ง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Golden Placeมูลนิธิโครงการหลวงมูลนิธิโครงการหลวงดอยคำ

ที่มา Kapook.com

บั้งไฟพญานาค

นักท่องเที่ยวเฮ ! นั่งริมโขงดูบั้งไฟพญานาคพุ่งสู่ฟ้า...สักครั้งในชีวิต




บั้งไฟพญานาค

          นักท่องเที่ยวจับจองที่นั่งริมฝั่งโขงดูบั้งไฟพญานาค คืน 15 ค่ำ เดือน 11 ก่อนเฮพร้อมกันลูกไฟทะยานสู่ท้องฟ้าสมใจ คุ้มค่าที่รอมานาน
          วันที่ 5 ตุลาคม 2560 เป็นวันออกพรรษา 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งทุก ๆ ที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ได้มีนักท่องเที่ยวต่างทยอยเดินทางเข้าพื้นที่เพื่อรอชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค โดยเมื่อเวลา 17.00 น. ได้มีการรำบวงสรวงบูชาพญานาค โดยมีนางเอกสาว แต้ว ณฐพร เตมีรักษ์ มาร่วมรำบวงสรวงบูชาพญานาคร่วมกับชาวบ้านโพนพิสัยด้วย


          กระทั่งเมื่อเวลา 18.00 น. ลูกไฟดวงแรกได้ขึ้นสู่ท้องฟ้าทะยานขึ้นท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีของประชาชนที่เฝ้ารอดูปรากฎการณ์ปีละครั้งอย่างบั้งไฟพญานาค ที่ถือว่าคุ้มค่าการรอคอยที่ได้เห็นแม้ว่าจะมีฝนตกก่อนหน้านี้

บั้งไฟพญานาค

บั้งไฟพญานาค





ที่มา Kapook.com

เที่ยวโครงการหลวงทุ่งเริง รื่นรมย์ชมกุหลาบสวย ณ สวนกุหลาบห้วยผักไผ่

เที่ยวโครงการหลวงทุ่งเริง รื่นรมย์ชมกุหลาบสวย ณ สวนกุหลาบห้วยผักไผ่


         สวนกุหลาบห้วยผักไผ่ แห่งโครงการหลวงทุ่งเริง จังหวัดเชียงใหม่ เพลิดเพลินกับการทานอาหารและขนมอร่อย ๆ ท่ามกลางบรรยากาศสวนกุหลาบสไตล์อังกฤษ
 
         สวนกุหลาบหลวงห้วยผักไผ่ แห่งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ไม่ว่าใครก็ตามลองได้เดินทางเข้ามาเที่ยวยังสถานที่แห่งนี้ เป็นต้องร้องว้าว ! ให้กับสีสันความสวยงามของดอกกุหลาบสวยหลากหลายชนิดและสายพันธุ์ ที่ต่างผลิกลีบบาน จนทำให้เราเผลอตกหลุมพรางความสวยงามที่ธรรมชาติสรรค์สร้างเอาไว้แบบไม่รู้ตัว

         ใครเล่าจะไปคิดว่าเส้นทางไม่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ จะมีสถานที่ท่องเที่ยวสวย ๆ เอาไว้ให้เราได้นั่งหย่อนใจชิล ๆ ท่ามกลางสวนกุหลาบ ทั้งยังได้ทานขนมและอาหาร เรียกได้ว่าเป็นชีวิตสโลว์ไลฟ์แบบเต็มขั้น พักกาย พักใจ แถมยังได้สูดกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของดอกกุหลาบที่ลอยเข้ามาเป็นระยะ ๆ ช่างเป็นความรื่นรมย์ที่คุณแทบอยากจะหยุดเวลานั้นไว้ตรงหน้า
 
สวนกุหลาบห้วยผักไผ่

สวนกุหลาบห้วยผักไผ่
         สวนกุหลาบห้วยผักไผ่ เป็นสวนหนึ่งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ที่นี่จัดได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่เปิดต้อนรับให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสความสวยงามของกุหลาบหลากสีสันนานาชนิด โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงส่งเสริมให้เกษตกรทำการเพาะปลูกและขยายพันธุ์กุหลาบในท้องที่ห้วยผักไผ่ จนทุกวันนี้ที่นี่ได้พัฒนากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาสายพันธุ์กุหลาบเกือบสองร้อยสายพันธุ์
 
สวนกุหลาบห้วยผักไผ่
         ภายในประกอบด้วยร้านอาหารและเครื่องดื่ม มีที่นั่งให้คุณละเมียดความอร่อยใต้ร่มเงาไม้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นของคาวหรือหวาน ล้วนแล้วผ่านการคัดสรรเลือกเฟ้นวัตถุดิบที่ทั้งสดและใหม่ เรียกได้ว่าอัดแน่นด้วยคุณภาพและความอร่อยทุกคำ

สวนกุหลาบห้วยผักไผ่
บรรยากาศในส่วนของที่นั่งทานอาหารที่แสนชิลและสงบ

สวนกุหลาบห้วยผักไผ่
น้ำผักอินทรีย์ปั่นกับชาสมุนไพรสดและเค้กแครอท

สวนกุหลาบห้วยผักไผ่
ชุดไอศกรีมวาฟเฟิลกรอบ (ไอศกรีมรสเสาวรสและอะโวคาโด)

         ความพิเศษของทั้งสองเมนู นอกจากจะอร่อยและน่าทานแล้ว เมนูนี้ยังเป็นเมนูทรงโปรดของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสวนกุหลาบห้วยผักไผ่แห่งนี้ 

         และหลังจากที่ได้ทานของอร่อยจนอิ่มท้อง คราวนี้ก็ถึงเวลาเดินสำรวจสวนกุหลาบสวย ที่ตกแต่งในสไตล์อังกฤษ เขาบอกกันว่า…สวนกุหลาบที่นี่มีกุหลาบหลากหลายสายพันธุ์ เช่น Miniature Roses, Midnight Blue Rose, Pink Peach Rose และ Bevelry Rose เป็นต้น ไม่ว่าจะเดินไปทางไหน คุณจะเพลิดเพลินไปกับสีสันความสวยงามของดอกกุหลาบ ที่คอยทำหน้าที่แต่งแต้มเส้นทางเดิน ทั้งสีแดง สีชมพู สีเหลือง สีม่วง สีขาว ตลอดจนสีแปลกใหม่ที่เราไม่ค่อยเห็นกัน

สวนกุหลาบห้วยผักไผ่
บรรยากาศของดอกกุลาบสวนหลากสีสันและสายพันธุ์ต่างบานชูช่อสวย

สวนกุหลาบห้วยผักไผ่

สวนกุหลาบห้วยผักไผ่

สวนกุหลาบห้วยผักไผ่

สวนกุหลาบห้วยผักไผ่

สวนกุหลาบห้วยผักไผ่

สวนกุหลาบห้วยผักไผ่

สวนกุหลาบห้วยผักไผ่

สวนกุหลาบห้วยผักไผ่
         การเดินทางมายังสวนกุหลาบหลวงห้วยผักไผ่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง
 
         ใช้ถนนหางดง-สะเมิง ต.บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ จากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 60 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. 
 
สวนกุหลาบห้วยผักไผ่

สวนกุหลาบห้วยผักไผ่

สวนกุหลาบห้วยผักไผ่

         นักท่องเที่ยวคนไหนที่อยากถ่ายรูปกับดอกกุหลาบสวย ๆ แนะนำให้มาเที่ยวช่วงเดือนพฤศจิกายน เพราะเป็นช่วงที่ดอกกุหลาบจะเริ่มบาน และจะออกดอกมากที่สุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ไม่ต้องห่วง เพราะถึงแม้ว่าคุณจะมาเที่ยวนอกเหนือจากช่วงเวลานี้ คุณก็จะได้พบกับความสวยงามของดอกกุหลาบเหล่านี้ด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าเที่ยวกันได้ตลอดทั้งปีเลยทีเดียว แต่อย่างว่า…ถ้ามาช่วงที่อากาศกำลังเย็น ๆ ก็จะช่วยสร้างบรรยากาศให้สวนดอกกุหลาบดูโรแมนติกมากกว่าเดิม ^ ^
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก สวนกุหลาบหลวง ห้วยผักไผ่เฟซบุ๊ก ท่องเที่ยวโครงการหลวงเว็บไซต์ thairoyalprojecttour.com

ที่มา Kapook.com

วันอังคารที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560

8 โครงการพระราชดำริด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย พระเมตตาอันยิ่งใหญ่ของในหลวง ร.9

8 โครงการพระราชดำริด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย พระเมตตาอันยิ่งใหญ่ของในหลวง ร.9



ในหลวง

          เปิดโครงการพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 ด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย จากพระราชประสงค์ให้พสกนิกรไทยมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง

          “…ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็คือพลเมืองนั่นเอง…” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณอันมากล้นต่อพสกนิกรชาวไทย ด้วยทรงเล็งเห็นว่ากำลังหลักของชาติบ้านเมืองก็คือประชาชนชาวไทย หากประชาชนไม่มีพละกำลังหรือมีความเสื่อมโทรมทางด้านสุขภาพ ประเทศชาติก็อาจจะอ่อนกำลังไปด้วยได้

          และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นห่วงราษฎรที่ยากไร้ หรือราษฎรในถิ่นทุรกันดาร ที่อาจเข้าถึงการแพทย์และสาธารณสุขได้ยาก จึงได้มีโครงการพระราชดำริ ในด้านการแพทย์และสาธารณสุขเกิดขึ้นมามากมาย ซึ่งวันนี้เราจะพามารู้จักโครงการพระราชดำริทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั้งหมด ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงริเริ่มเพื่อช่วยเหลือประชาชนของพระองค์กันค่ะ
ในหลวง
    ภาพจาก rspg.or.th
  
1. โครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน
          โครงการพระราชดำริโครงการนี้เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2510 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน ประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล เครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนยารักษาโรค ไปยังท้องถิ่นทุรกันดารในจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีหน่วยแพทย์ของทางราชการเข้าไปถึง เพื่อให้การตรวจรักษาราษฎร โดยไม่คิดมูลค่าใด ๆ

ในหลวง
ภาพจาก kanchanapisek.or.th 
2.  โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน
          โครงการพระราชดำริทางด้านการแพทย์โครงการแรก ซึ่งถือกำเนิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2512 อันเนื่องมาจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียนที่โครงการชาวเขา และทรงพบว่าราษฎรที่มารอรับเสด็จฯ เจ็บป่วยกันมาก อีกทั้งยังมีความยากลำบากในการเดินทางไปรักษา ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์ที่ตามเสด็จฯ ทำการตรวจรักษาประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วย โดยไม่ต้องเสียค่ารักษาใด ๆ 

          นอกจากนี้ในโครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน ยังมีการจัดอบรมหมอหมู่บ้านนั้น ๆ เพื่อช่วยให้ราษฎรมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคภัยต่าง ๆ และรู้จักวิธีรักษาพยาบาลแผนปัจจุบันอย่างถูกต้อง รวมทั้งยังมีการอบรมให้ราษฎรรู้จักการติดต่อกับหน่วยราชการในกรณีที่อาการบาดเจ็บหรือความเจ็บป่วยนั้น ๆ มีความรุนแรงเกินขีดจำกัด ซึ่งนับว่าเป็นโครงการพระราชดำริที่สามารถช่วยประชาชนในประเทศได้อย่างยั่งยืนจริง ๆ 

ในหลวง
ภาพจาก สสส.

          โดยจำแนกได้ว่า โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน สามารถแก้ไขได้ทั้งปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎร และแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชาติด้วย เพราะทรงเล็งเห็นว่า การเจ็บป่วยเป็นอุปสรรคของการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะเหล่าเกษตรกรที่มักจะต้องใช้กำลังในการทำงาน ดังนั้นเมื่อได้รับการบำบัดรักษาให้มีสุขภาพพลานามัยที่ดีแล้ว ราษฎรเหล่านั้นก็จะสามารถต่อสู้กับงานหนักในการประกอบอาชีพได้ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจส่วนรวมของสังคมดีขึ้นสืบไป

ในหลวง

ในหลวง
ภาพจาก kanchanapisek.or.th 
3. หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน
          หน่วยทันตกรรมพระราชทานก่อกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงทราบว่าทันตแพทย์มีอยู่น้อยและจะมีอยู่ตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดเท่านั้น หรือบางจังหวัดก็ไม่มีทันตแพทย์อยู่เลย ดังนั้นพระองค์จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อรถยนต์ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือทำฟัน และมีหัวหน้าทีมทันตแพทย์คอยจัดส่งทันตแพทย์อาสาสมัครออกช่วยเหลือ บำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟันแก่เด็ก นักเรียน และประชาชนที่อยู่ในท้องที่ทุรกันดารโดยไม่คิดมูลค่า โดยได้รับความร่วมมือจากทันตแพทย์โรงพยาบาลต่าง ๆ ในการออกปฏิบัติการภาคสนาม 

ในหลวง
    ภาพจาก kanchanapisek.or.th

4. โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์
          เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้ศึกษาและปฏิบัติส่วนพระองค์กับผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่าง ๆ จนได้ผลดีแล้วจึงนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน 

          โดยโครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2517 เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของราษฎรที่นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งในขณะนั้นมีสถานีอนามัยเพียงแห่งเดียว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดแพทย์หมุนเวียนเข้าไปบริการตรวจรักษา พร้อมด้วยแพทย์และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลนราธิวาส และโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ออกไปปฏิบัติการสัปดาห์ละ 2 ครั้งเป็นประจำ

ในหลวง
ภาพจาก สำนักงาน กปร.  

5. โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
          ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518 หลังจากที่เปิดโครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ใน พ.ศ. 2517 แพทย์ที่อาสาสมัครซึ่งเป็นแพทย์อาวุโสและมีประสบการณ์มาก เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องมีศัลยแพทย์อาสาไปช่วยปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลประจำจังหวัดสกลนคร ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ แปรพระราชฐาน ประทับที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จึงได้มีการศึกษาหาข้อมูล และความต้องการของโรงพยาบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ในด้านศัลยกรรม และรวบรวมจัดทำทำเนียบศัลยแพทย์อาสา แล้วก่อตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์ขึ้น โดยในภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงรับวิทยาลัยศัลยแพทย์ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์และเปลี่ยนชื่อเป็นราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

ในหลวง
 
6. โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้พระราชทาน
          โครงการพระราชดำริโครงการนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2522 โดยเริ่มมาจากทรงเห็นว่ามีราษฎรจำนวนมากที่ป่วยด้วยโรคหู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดหน่วยแพทย์อาสาสมัครในโรคดังกล่าว ผลัดกันออกไปปฏิบัติหน้าที่ประจำโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่เสด็จฯ แปรพระราชฐาน โดยอาศัยแพทย์หู คอ จมูก อาสาสมัครจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลประจำจังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาลประจำจังหวัดนครพนม ผลัดเปลี่ยนกันมาปฏิบัติราชการชุดละ 2 สัปดาห์ โดยเริ่มที่จังหวัดนราธิวาสก่อน ต่อมาก็ขยายการปฏิบัติงานไปยังจังหวัดสกลนคร และที่โรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่

ในหลวง
ภาพจาก kanchanapisek.or.th
7. โครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์
          เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเล็งเห็นว่าปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุขเกิดจากการที่ราษฎรไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง อีกทั้งยังไม่มีสถานพยาบาลอยู่ใกล้ หรือบ้างก็เกิดจากการอุปโภค-บริโภคที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ด้วยเหตุนี้จึงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์ โดยคัดเลือกคนในหมู่บ้านต่าง ๆ มาเข้ารับการฝึกอบรมด้านการรักษาพยาบาลเบื้องต้น การรักษาโรคอย่างง่าย เพื่อให้หมอหมู่บ้านเหล่านี้สามารถช่วยเหลือประชากรในหมู่บ้านได้อย่างถูกวิธี 

ในหลวง
    ภาพจาก สพฉ.

8. โครงการอบรมปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการช่วยคลอดฉุกเฉิน โครงการพระราชดำริ สำหรับตำรวจจราจร

          เริ่มแรกตำรวจจราจรในโครงการพระราชดำริ เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องจากทรงเป็นห่วงพสกนิกรในเรื่องปัญหาการจราจร จึงพระราชทานแนวทางปฏิบัติให้แก่ตำรวจเพื่อเป็นแนวคิดไปใช้ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และพระราชทานทุนจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ในการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ รถจักรยานยนต์พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และพัฒนาบุคลากรเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจรอันจะบรรเทาความเดือดร้อนของพสกนิกรได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์และมีประสิทธิภาพ ได้ผลดียิ่งขึ้น โดยโครงการนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2536 เรื่อยมา 

          แต่นอกจากปัญหาที่เกิดจากสภาพการจราจรแล้ว ยังพบความเดือดร้อนของประชาชนซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เช่น การนำผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ หญิงใกล้คลอดส่งโรงพยาบาล รวมถึงการคลอดฉุกเฉิน ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรต้องได้รับการฝึกอบรมให้เกิดทักษะ ความรู้ ความชำนาญเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการทำคลอดฉุกเฉิน เพื่อนำไปช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน สำหรับการฝึกอบรม จะฝึกปฏิบัติการช่วยเหลือฉุกเฉินเบื้องต้น การช่วยชีวิตพื้นฐาน การฝึกและทดสอบปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค การช่วยเหลือการคลอดในสถานการณ์ต่าง ๆ และการดูแลทารกแรกคลอดก่อนนำส่งโรงพยาบาล

          ทั้งนี้ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้สำเร็จการศึกษาสาขาแพทยศาสตร์ตอนหนึ่ง ซึ่งมีความว่า...

          “จึงใคร่ขอร้องให้ทุก ๆ คนตั้งใจ และพยายามปฏิบัติหน้าที่ให้ได้ผลสมบูรณ์จริง ๆ อย่าปล่อยให้กำลังของชาติต้องเสื่อมถอยลงเพราะประชาชนเสียสุขภาพอนามัย”

          จะเห็นได้ว่าพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้นล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างแท้จริง เพราะทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของพสกนิกรในทุกด้าน โดยไม่เคยคิดจะทอดทิ้งประชาชนไทยเลยแม้สักคนเดียว และเชื่อว่าเราทุกคนต่างรู้สึกเหมือนกันว่า...เราโชคดีเหลือเกินที่ได้เกิดในรัชกาลที่ 9...
       
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สารานุกรมไทยสำหรับประชาชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 
ชมรมจริยธรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 

ที่มา Kapook.com