วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 9

จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 9 
พระอัจฉริยภาพในจิตรกรรมฝาผนัง ในพระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง เลอเลิศมาก  ดังที่ อารักษ์ สังหิตกุล อธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้น เขียนคำนำในหนังสือ ชุด จิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน ตามแนวพระราชดำริ ว่าเป็นงานสร้างสรรค์จากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่าจิตรกรรมทั้ง 8 ช่อง ในพระพุทธรัตนสถาน คือศิลปกรรมรัชกาลที่ 9
แต่ละภาพจิตรกรรมจะเล่าเรื่องเหตุการณ์ แต่รัชสมัยของรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 9 ตามลำดับ

จิตรกรรมที่ได้รับยกย่องว่าเป็นศิลปะสมัยรัชกาลที่ 9 นั้น อยู่ที่พระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน 

ที่มา โพสต์ทูเดย์




จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 9











วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

วันพระบิดาแห่งฝนหลวง

วันพระบิดาแห่งฝนหลวง 14 พฤศจิกายน


วันพระบิดาแห่งฝนหลวง
               
            วันพระบิดาแห่งฝนหลวง ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ซึ่งเรามี ประวัติวันพระบิดาแห่งฝนหลวง พร้อมโครงการฝนหลวงมาฝาก 

            หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำริโครงการฝนหลวง เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 นับตั้งแต่นั้น พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายในการคิดค้น วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการทำฝนหลวงจนประสบความสำเร็จ และช่วยให้ประเทศชาติรอดพ้นวิกฤตภัยแล้งมาได้จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อแสดงความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อปวงชนชาวไทย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยกำหนดให้วันที่  14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันพระบิดาแห่งฝนหลวง เพื่อให้ประชาชนทั้งในปัจจุบัน และอนุชนรุ่นหลัง ได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดี ชื่นชมในพระบารมี และร่วมกันถวายสดุดีเฉลิมพระเกียรติในทุกปี

            อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เข้าใจถึงโครงการฝนหลวง ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งในโครงการพระราชดำริที่มีประโยชน์นานัปการต่อปวงชนชาวไทยมากขึ้น ทีมงานกระปุกดอทคอม จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฝนหลวงมาให้ได้ทราบกันค่ะ 

ประวัติโครงการฝนหลวง 

            โครงการพระราชดำริฝนหลวง เป็นโครงการที่ก่อกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ซึ่งต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค และใช้ในการเกษตรกรรม อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้ง ที่มีสาเหตุจากความผันแปร และคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติ กล่าวคือ ฤดูฝนเริ่มต้นล่าช้าเกินไป หรือหมดเร็วกว่าปกติ หรือฝนทิ้งช่วงยาวในช่วงฤดูฝน 

            จากพระราชกรณียกิจในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง นับแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติตราบเท่าทุกวันนี้ ทำให้ทรงพบเห็นว่า ภาวะแห้งแล้งได้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นตามลำดับ เพราะการตัดไม้ทำลายป่า เป็นสาเหตุให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรในทุกภาคของประเทศ ส่งผลถึงความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมของชาติ คิดเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี 

            ทั้งนี้ ระหว่างทางที่เคยเสด็จพระราชดำเนิน ทั้งภาคพื้นดิน และทางอากาศยาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงสังเกตเห็นว่า มีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้า แต่ไม่สามารถก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ เป็นเหตุให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงระยะยาวทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงฤดูฝน ทรงคิดคำนึงว่า น่าจะมีมาตรการทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยให้เมฆเหล่านั้นก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ ทรงเชื่อมั่นว่า ด้วยลักษณะของกาลอากาศ ภูมิอากาศ และภูมิประเทศของประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน และอยู่ในอิทธิพลของฤดูมรสุมของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นฤดูฝน และเป็นฤดูเพาะปลูกประจำปีของประเทศไทย จะสามารถดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดเป็นฝนตกได้ 

            ดังนั้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้า และวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ จนทรงมั่นพระราชหฤทัย ก่อนพระราชทานแนวคิดนี้แก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น และในปีถัดมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการบนท้องฟ้า

             กระทั่งในปี พ.ศ. 2512 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งหน่วยบินปราบศัตรูพืชกรมการข้าว เพื่อให้การสนับสนุนในการสนองพระราชประสงค์ โดยในปีเดียวกันนั้นเอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทำการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการและหัวหน้าคณะปฏิบัติการทดลองคนแรก และเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองแห่งแรก

           ต่อมา ได้มีปฏิบัติการโดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้ง ขนาดไม่เกิน 1 ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลองในขณะนั้น ทำให้กลุ่มเมฆทดลองเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด จนเกิดการกลั่นรวมตัวกันหนาแน่น และก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว และจากการติดตามผลโดยการสำรวจทางภาคพื้นดิน ก็ได้รับรายงานยืนยันจากราษฎรว่า เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่บริเวณวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด การทดลองดังกล่าวจึงเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่บ่งชี้ให้เห็นว่า การบังคับเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และความสำเร็จดังกล่าวยังส่งผลให้มีการพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอดโครงการฝนหลวงมาจนถึงปัจจุบัน
            

วิธีการทำฝนหลวง 

            การทำฝนหลวง เป็นกรรมวิธีการเหนี่ยวนำน้ำจากฟ้า ซึ่งต้องใช้เครื่องบินที่มีอัตราการบรรทุกมาก ๆ บรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้า โดยดูจากความชื้นของจำนวนเมฆ และสภาพของทิศทางลมประกอบกัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝน คือ ความร้อนชื้นปะทะความเย็น และมีแกนกลั่นตัวที่มีประสิทธิภาพในปริมาณที่เหมาะสม นั่นคือ เมื่อมวลอากาศร้อนชื้นที่ระดับพื้นผิวขึ้นสู่อากาศเบื้องบน อุณหภูมิของมวลอากาศจะลดต่ำลงจนถึงความสูงที่ระดับหนึ่ง อุณหภูมิที่ลดต่ำลงนั้นมากพอจะทำให้ไอน้ำในมวลอากาศอิ่มตัว จนเกิดกระบวนการกลั่นตัวเองของไอน้ำขึ้นบนแกนกลั่นตัวจนกลายเป็นฝนตกลงมา ฉะนั้น สารเคมีดังกล่าวจึงประกอบด้วยสูตรร้อน เพื่อใช้กระตุ้น กลไกการหมุนเวียนของบรรยากาศสูตรเย็น ใช้เพื่อกระตุ้นกลไกการรวมตัวของละอองเมฆให้โตขึ้นเป็นเม็ดฝน และสูตรที่ใช้เป็นแกนดูดซับความชื้น เพื่อกระตุ้นกลไกระบบการกลั่นตัวให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่หนึ่ง : ก่อกวน

            การก่อกวน เป็นขั้นตอนที่เมฆธรรมชาติเริ่มก่อตัวทางแนวตั้ง การปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนนี้ จะมุ่งใช้สารเคมีไปกระตุ้นให้มวลอากาศเกิดการลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน เพื่อให้เกิดกระบวนการชักนำไอน้ำ หรือความชื้นเข้าสู่ระบบการเกิดเมฆ ระยะเวลาที่จะปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ ไม่ควรเกิน 10.00 น. ของแต่ละวัน โดยการใช้สารเคมีที่สามารถดูดซับไอน้ำจากมวลอากาศได้ แม้จะมีเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ เพื่อกระตุ้นกลไกของกระบวนการกลั่นตัวไอน้ำในมวลอากาศ ทางด้านเหนือลมของพื้นที่เป้าหมาย เมื่อเมฆเริ่มเกิดมีการก่อตัวและเจริญเติบโตในแนวตั้ง จึงใช้สารเคมีที่ให้ปฏิกิริยาคายความร้อน โปรยเป็นวงกลม หรือเป็นแนวถัดมาทางใต้ลมเป็นระยะทางสั้น ๆ เข้าสู่ก้อนเมฆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกลุ่มแกนร่วมในบริเวณปฏิบัติการสำหรับใช้เป็นศูนย์กลางที่จะสร้างกลุ่มเมฆฝนในขั้นตอนต่อไป
                
ขั้นตอนที่สอง : เลี้ยงให้อ้วน

            การเลี้ยงให้อ้วน เป็นขั้นตอนที่เมฆกำลังก่อตัวเจริญเติบโต ซึ่งเป็นระยะที่สำคัญมากในการปฏิบัติการฝนหลวง เพราะจะต้องไปเพิ่มพลังงานให้กับการลอยตัวของก้อนเมฆให้ยาวนานออกไป โดยต้องใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์ หรือศิลปะแห่งการทำฝนควบคู่ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อตัดสินใจโปรยสารเคมีฝนหลวงชนิดใด ณ ที่ใดของกลุ่มก้อนเมฆ และในอัตราใดจึงเหมาะสม เพราะต้องให้กระบวนการเกิดละอองเมฆสมดุลกับการลอยตัวของเมฆ มิฉะนั้นจะทำให้เมฆสลาย
                               
ขั้นตอนที่สาม : โจมตี

            การโจมตี ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกรรมวิธีปฏิบัติการฝนหลวง โดยเมฆ หรือกลุ่มเมฆฝน ต้องมีความหนาแน่นมากพอที่จะสามารถตกเป็นฝนได้ ภายในกลุ่มเมฆจะมีเม็ดน้ำขนาดใหญ่มากมาย หากเครื่องบินบินเข้าไปในกลุ่มเมฆฝนนี้ จะมีเม็ดน้ำเกาะตามปีก และกระจังหน้าของเครื่องบิน ซึ่งจะต้องปฏิบัติการเพื่อลดความรุนแรงในการลอยตัวของก้อนเมฆ หรือทำให้อายุการลอยตัวนั้นหมดไป สำหรับการปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ จะต้องพิจารณาจุดมุ่งหมายของการทำฝนหลวง ซึ่งมีอยู่ 2 ประเด็น คือ เพื่อเพิ่มปริมาณฝนตก และเพื่อให้เกิดการกระจายการตกของฝน 

            ด้วยความสำคัญ และปริมาณความต้องการให้มีปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือทวีจำนวนมากขึ้น ฉะนั้นเพื่อให้งานปฏิบัติการฝนหลวงสามารถปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกรได้กว้างขวาง และได้ผลดียิ่งขึ้น รัฐบาลจึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้ง สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2518 เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงต่อไป กระทั่งมีการปรับปรุง และพัฒนาปฏิบัติการฝนหลวงมาจนถึงปัจจุบัน

ฝนหลวง
แผนภาพตำราฝนหลวงพระราชทาน 

การดำเนินงาน

            เนื่องจากการทำฝนเป็นเทคโนโลยีที่ยังใหม่ต่อการรับรู้ของบุคคลทั่วไป และในประเทศไทยยังไม่มีนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ในระยะแรกเริ่มของโครงการ ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จึงทรงเป็นกำลังสำคัญ และทรงร่วมในการพัฒนากิจกรรมนี้ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ทรงวางแผนการทดลองปฏิบัติการติดตามและประเมินผลปฏิบัติการทุกครั้งอย่างใกล้ชิดและรวดเร็วชนิดวันต่อวัน 

            นอกจากนั้นยังทรงปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างในการประสานงาน ขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนกิจกรรม อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กองบินตำรวจ กองการสื่อสารกรมตำรวจ และกองทัพอากาศ ในรูปของศูนย์อำนวยการฝนหลวงพิเศษ สวนจิตรลดา และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรูปของคณะกรรมการดำเนินการทำฝนหลวง ซึ่งการที่พระองค์ติดตามโครงการดังกล่าวอย่างใกล้ชิดมาตลอด และได้ให้แนวทางในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จึงทำให้โครงการฝนหลวง พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ 

วัตถุประสงค์ของโครงการฝนหลวง

            จากความเป็นมาของโครงการฝนหลวงนั้นจะเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์หลักของโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนในประเทศ โดยเฉพาะการที่ท้องถิ่นหลายแห่งที่ประสบปัญหาพื้นดินแห้งแล้ง หรือการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร นอกจากนี้ภาวะความต้องการใช้น้ำของประเทศ ที่นับวันจะทวีปริมาณความต้องการสูงขึ้น เพราะการขยายตัวเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม นั่นเอง


ประโยชน์ของโครงการฝนหลวง

            สืบเนื่องจากเดิมที โครงการฝนหลวง มีขึ้นเพื่อรับภาระหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน ดังนั้น นอกจากการบรรเทาปัญหาภัยแล้งแล้ว เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับการร้องขอเพื่อให้ขยายการบรรเทาความเดือดร้อนที่สืบเนื่องมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรม และภาวะสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ การทำฝนหลวงจึงมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการมีส่วนช่วยเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ดังนี้


            ด้านการเกษตร : มีการร้องขอฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงที่เกิดภาวะฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงยาวนาน ซึ่งมีผลกระทบต่อแหล่งผลิตทางการเกษตรที่กำลังให้ผลผลิตในพื้นที่ต่าง ๆ 

            ด้านการอุปโภค บริโภค : การทำฝนหลวงได้ช่วยตอบสนองภาวะความต้องการน้ำกิน น้ำใช้ ที่ทวีความรุนแรงมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากคุณสมบัติของดินในภูมิภาคนี้เป็นดินร่วนปนทราย ไม่สามารถอุ้มซับน้ำได้ จึงไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ดีเท่าที่ควร

            ด้านการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ : เนื่องจากใต้พื้นดินของภาคอีสานมีแหล่งหินเกลือเป็นจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง หากยามใดอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางเกิดมีปริมาณน้ำเหลือน้อย ย่อมส่งผลให้เกิดน้ำกร่อยหรือเค็มได้ ดังนั้น การทำฝนหลวงมีความจำเป็นมากในการช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว 

            ด้านการเสริมสร้างเส้นทางคมนาคมทางน้ำ : เมื่อปริมาณน้ำในแม่น้ำลดต่ำลง จนไม่สามารถสัญจรไปมาทางเรือได้ จึงต้องมีการทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับบริเวณดังกล่าว เพราะการขนส่งสินค้าทางน้ำเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าทางอื่น และการจราจรทางน้ำยังเป็นอีกช่องทางหนึ่ง สำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรทางบก ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมาก

            ด้านการป้องกันและบำบัดภาวะมลพิษของสิ่งแวดล้อม : หากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดน้อยลงเมื่อใด น้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทยก็จะไหลหนุนเนื่องเข้าไปแทนที่ทำให้เกิดน้ำกร่อย และสร้างความเสียหายแก่เกษตรกรเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการทำฝนหลวง จึงช่วยบรรเทาภาวะดังกล่าว อีกทั้งการทำฝนหลวงยังช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอันเกิดจากการระบายน้ำเสียทิ้งลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยปริมาณน้ำจากฝนหลวงจะช่วยผลักสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษให้ออกสู่ท้องทะเล ทำให้ภาวะมลพิษจากน้ำเสียเจือจางลง

            ด้านการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า :เนื่องจากบ้านเมืองเราเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่สูงมาก ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะวิกฤต โดยระดับน้ำเหนือเขื่อนมีระดับต่ำมากจนไม่เพียงพอต่อการใช้พลังงานน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้า การทำฝนหลวงจึงมีความสำคัญในด้านดังกล่าวด้วยเช่นกัน เป็นต้น

            ทั้งนี้ จากประโยชน์นานัปการของโครงการฝนหลวง อันเกิดจากพระปรีชาสามารถ และสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงคำนึงถึงประโยชน์ทุกข์สุขของราษฎรชาวไทยเสมอมานั้น การขนานนามพระองค์ว่า พระบิดาแห่งฝนหลวง จึงเป็นการแสดงความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ที่จะคงอยู่ในใจของปวงชนชาวไทยตลอดไปตราบนานเท่านาน 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
irrigation.rid.go.th
lib.ru.ac.th 
prdnorth.in.th 
chaipat.or.th 
thairoyalrain.in.th 

ที่มา Kapook.com

วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

วิธีพับกระทงใบตอง


วิธีพับกระทงใบตอง ง่ายนิดเดียว

วิธีที่ 1 พับใบตอง กลีบผกา

กลีบผกา
กระทงใบตอง แบบกลีบผกา

วิธีทำ
1. ตัดใบตองขนาดความกว้าง 1.5 นิ้ว ยาว 6 นิ้ว โดยประมาณ
2. พับตามรูป จำนวน 3 กลีบ จากนั้นนำมาวางซ้อนให้ลดหลั่นกันไปตามภาพ ซึ่งจะนับเป็น 1 ตับ
3. นำไปติดโดยรอบที่ขอบของฐานกระทง ซึ่งเป็นต้นกล้วยตัดเป็นแว่น ความหนา 1.5 – 2 นิ้ว โดยประมาณ ทั้งนี้ปริมาณของกลีบกระทงที่ใช้จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของตัว ฐาน
4. จากนั้นประดับด้วยดอกไม้ตามความชอบ และปักธูปเทียนลงไป เป็นอันเสร็จ
วิธีที่ 2 พับใบตอง กลีบกุหลาบ

กลีบกุหลาบ
กระทงใบตอง แบบกลีบกุหลาบ

วิธีทำ
1. ตัดใบตองขนาดความกว้าง 1.5 นิ้ว ยาว 6 นิ้ว โดยประมาณ
2. พับเป็นกลีบกุหลาบตามรูป จำนวน 3 กลีบ จากนั้นนำมาสวมเีัรียงกันให้มีระยะห่างพองามตามความชอบ ควรจัดให้ยอดของกลีบ และลอนของกลีบตรงเสมอเป็นแนวเดียว ซึ่งจะทำให้ผลงานออกมาดูสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย
3. ใช้ด้ายสีเขียวใกล้เคียงกับใบตอง หรือสีดำมาเย็บติดกันด้วยด้นถอยหลังให้เป็นแนวตรงเสมอกันโดยตลอด
4. พับกลีบใบตองแล้วเย็บต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถหุ้มขอบของฐานกระทงได้โดยรอบ ตรึงกลับใบตองกับฐานของกระทงด้วยหมุด แล้วขลิบส่วนที่เลยพ้นฐานลงมาให้เรียบร้อยเสมอกับฐาน เมื่อทำเสร็จแล้วจะมีลักษณะคล้ายกับมงกุฏสวมศีรษะ
5. จากนั้นประดับด้วยดอกไม้ตามความชอบ และปักธูปเทียนลงไป เป็นอันเสร็จ
วิธีที่ 3 พับใบตอง หัวขวาน

หัวขวาน
กระทงใบตอง แบบหัวขวาน

วิธีทำ
1. ตัดใบตองขนาดความกว้าง 1.5 นิ้ว ยาว 6 นิ้ว โดยประมาณ
2. พับตามรูป จำนวน 3 กลีบ จากนั้นนำมาสวมเีัรียงกันให้มีระยะห่างพองามตามความชอบ เพื่อให้ผลงานออกมาดูสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย ควรพับแต่ละกลีบให้ได้ขนาดเท่ากันทุกจุด
3. ใช้ด้ายสีเขียวใกล้เคียงกับใบตอง หรือสีดำมาเย็บติดกันด้วยด้นถอยหลังให้เป็นแนวตรงเสมอกันโดยตลอด
4. พับกลีบใบตองแล้วเย็บต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถหุ้มขอบของฐานกระทงได้โดยรอบ ตรึงกลับใบตองกับฐานของกระทงด้วยหมุด แล้วขลิบส่วนที่เลยพ้นฐานลงมาให้เรียบร้อยเสมอกับฐาน เมื่อทำเสร็จแล้วจะมีลักษณะคล้ายอ่างน้ำ
5. จากนั้นประดับด้วยดอกไม้ตามความชอบ และปักธูปเทียนลงไป เป็นอันเสร็จ
วิธีที่ 4 พับใบตอง กลีบหัวนก..ลายเปีย
t00010t00011t00012
ขั้นตอนการพับกลีบหัวนกลายเปีย
๑. ฉีกใบตองกว้าง ๑ ๑/๒ นิ้ว
๒. แบ่งครึ่งใตองให้เท่ากัน
๓. พับใบตองริมขวา ให้ชิดเส้นกึ่งกลางใบ
๔. พับทบทั้งสองข้างเข้าหากัน
๕. คว่ำกลีบให้สันตองอยู่ด้านบน พับใบตองลงมาให้เป็นมุมฉาก
๖. พับด้านซ้ายหลังมาทบตรงเส้นตั้งฉาก
๗. พับอีกด้านเหมือนกัน
๘. พับตลบสันทบกลับมาทางขวา ให้เป็นแนวโค้งทะแยง
๙. นำกลีบต่อมาสวมด้านหน้า ให้เส้นโค้งทะแยงขนานกัน
๑๐. เย็บต่อกันจนได้ความยาวตามต้องการ
วิธีที่ 5 พับใบตอง กลีบการเวก
t00017 กลีบการเวกt00018
ขั้นตอนการพับกลีบการเวก
๑. พับทบใบตองเข้าหากัน
๒. พับสันทบขวาไขว้มาทางซ้าย
๓. พลิกกลับด้านหลัง พับสันทบซ้ายไขว้ไปทางขวา
๔. พับริมสันทบขวาไขว้ไปทางด้านซ้าย
๕. พลิกกลับ พับริมสันทบซ้ายไขว้ไปทางด้านขวา
๖. นำกลีบมาสวม เย็บต่อกัน ความยาวตามต้องการ
วิธีที่ 6 การถักตัวตะขาบ
t00015 กลีบตะขาบt00016
ขั้นตอนการถักตัวตะขาบ
๑. ฉีกใบตองกว้าง ๑/๒ เซ็น้ติเมตร แล้วม้วนโดยเส้นทางขวามือซ้อนทับบนเส้นทางซ้ายมือ
๒. จับเส้นทางขวามือสอดเข้าในห่วง
๓. ดึงเส้นด้านซ้ายให้แน่น
๔. สอดเส้นด้านซ้ายเข้าในห่วง ดึงเส้นด้านขวาให้แน่น
๕. สอดสลับไปมา จนเส้นใบตองสั้นสุดใบตอง
๖. ต่อตัวตะขาบ ให้สอดใบตองด้านหน้าตัวตะขาบ อ้อมสอดเก็บปลายทางด้านหลัง แล้วก็ทำเช่นเดียวกัน
๗. ถักจนได้ความยาวตามต้องการ
หลังจากที่เพื่อนๆ พับใบตองแบบที่ชอบเรียบร้องแล้ว ก็ถึงส่วนของตัวกระทง ให้ใช้หยวกกล้วย หรือวัตถุที่ย่อยสลายได้ตัดให้เป็นวงโดยสูงประมาณ1-2.5 นิ้ว ส่วนขนาดแล้วแต่ความพอใจ แล้วนำเอาใบตองที่เราพับเป็นรูปทรงต่างๆ มาติดรอบๆ ขอบกระทงกันเลย
นอกจากนี้ก่อนที่เราจะนำกระทงไปลอยเพื่อขอขมาพระแม่คงคานั้น เพื่อนๆ อาจนำทริคความเชื่ออย่างการตัดเล็บ และผมใส่ลงไปด้วย เพื่อเป็นการขจัดสิ่งร้ายๆ ให้ออกไปจากตัวเรา หรือจะใส่เหรียญลงไปด้วย เพื่อนำมาซึ่งความมั่งคั่งตามความเชื่อก็ได้นะคะ สุขสันต์วันลอยกระทงค่ะ
cr. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, baanmaha
ที่มา  mthai.com

วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2560

โครงการพระราชดำริด้านสมุนไพร อีกหนึ่งพระราชกรณียกิจในหลวง รัชกาลที่ 9

โครงการพระราชดำริด้านสมุนไพร อีกหนึ่งพระราชกรณียกิจในหลวง รัชกาลที่ 9



โครงการพระราชดําริ

          โครงการพระราชดำริด้านสมุนไพรของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่เกิดจากสายพระเนตรอันยาวไกล พัฒนาทั้งสมุนไพรไทยและผสานหลักเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งหลักการเกษตรเข้าไว้ด้วยกัน

          เป็นที่ทราบกันดีมาตลอดเวลาว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชกรณียกิจนับพัน ๆ โครงการ แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อประชาชนชาวไทยมาอย่างยาวนาน และหนึ่งในโครงการพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่เราอยากนำเสนอให้ชาวไทยทุกคนได้รู้และศึกษากันอีกโครงการหนึ่งก็คือ โครงการพระราชดำริด้านสมุนไพร ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 

          โดยนอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จะทรงมีโครงการพระราชดำริด้านสาธารณสุขไทยหลายต่อหลายสาขาแล้ว ยังทรงสนพระราชหฤทัยในด้านสมุนไพรไทย ที่ได้ใช้ประโยชน์มาเป็นเวลานานตั้งแต่อดีต จึงทรงมีพระราชดำริว่าควรจะต้องมีการส่งเสริมการใช้และพัฒนาสมุนไพรเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยพระองค์ได้ทรงดำเนินการเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ดังนั้นจะเห็นได้จากโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษา พัฒนา และอนุรักษ์สมุนไพรที่เกิดขึ้นหลายโครงการ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

          1. โครงการที่เกิดจากพระราชดำริโดยแท้จริง 

          2. โครงการที่เกิดขึ้นโดยหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการจัดทำขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริ

โครงการที่เกิดจากพระราชดำริโดยแท้จริง อันได้แก่

โครงการพระราชดําริ

โครงการสวนป่าสมุนไพรของศูนย์การศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 

          ตั้งอยู่ที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งในปี พ.ศ. 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่จำนวน 15 ไร่ จัดสร้างสวนป่าสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ไว้ศึกษาวิจัยทางวิชาการเพื่อเผยแพร่การใช้ประโยชน์ และเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ โดยในปัจจุบันมีพรรณพืชในสวนป่าแห่งนี้อยู่กว่า 731 ชนิดด้วยกัน

- โครงการพระราชดำริเพื่อการศึกษาวิจัยสมุนไพรที่ใช้กับโรคมะเร็ง

          “ฉันไม่สบายใจมากที่คนไทยของฉันเป็นมะเร็งตายกันมาก” จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน เนื่องจากมีอัตราการตายด้วยโรคมะเร็งมากขึ้นเรื่อย ๆ นายแพทย์นพรัตน์ บุณยเลิศ จึงได้ทำการค้นคว้าทดลองและคิดค้นตำรับยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ หลายตำรับ และใช้รักษาผู้ป่วยอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยสมุนไพรที่ใช้ในตำรับของนายแพทย์นพรัตน์ ก็เช่น ทองพันชั่ง (หญ้ามันไก่), ฟ้าทะลาย (ฟ้าทะลายโจร), ผักบุ้ง (ผักทอดยอด) และหญ้าผมยุ่ง เป็นต้น

โครงการพระราชดำริที่เกิดขึ้นโดยหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการจัดทำขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริ

          เป็นโครงการพระราชดำริที่เกิดขึ้นโดยหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการจัดทำขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริ ซึ่งนอกจากจะเป็นโครงการพัฒนาสมุนไพรให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุดแล้ว ยังมีจุดประสงค์ในการจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ราบสูงอีกด้วย โดยโครงการพระราชดำริด้านสมุนไพรที่เกิดขึ้นโดยหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการจัดทำขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริก็มีดังนี้

โครงการพระราชดําริ

- โครงการหลวง ดอยคำ

          มีจุดประสงค์เพื่อให้ชาวเขามีอาชีพทำกิน อันเป็นการแก้ปัญหายาเสพติดและการตัดไม้ทำลายป่า ด้วยการส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชอื่น ๆ ทดแทนฝิ่น จนกระทั่งมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรของมูลนิธิโครงการหลวงเกิดขึ้นมากมายหลายชนิด ในรูปผลิตภัณฑ์ดอยคำ

โครงการพระราชดําริ

- โครงการภายใต้มูลนิธิโครงการหลวง

          ซึ่งได้ดำเนินการผสมผสานร่วมกับผลิตภัณฑ์การเกษตรอื่น ๆ และผลิตอาหาร เช่น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue Culture) เพื่อเพิ่มผลผลิต โดยไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่เพาะปลูกมากเกินไป การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีชีวภาพอื่น ๆ เช่น การใช้ประโยชน์จากจุลชีพเพื่อการผลิต นอกจากนี้ยังมีโครงการทดลอง และห้องปฏิบัติการเพื่อการวิจัยและพัฒนาสำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร และการเกษตรในบริเวณพระราชวังสวนจิตรลดา ซึ่งทรงให้ใช้พื้นที่อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดทุกหย่อมหญ้า 

          โดยตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรภายใต้มูลนิธิโครงการหลวงที่ได้ใช้เทคโนโลยีพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถวางจำหน่ายในท้องตลาดได้จริงก็อย่างเช่น เห็ดหลินจือสกัดในรูปเห็ดหลินจือกระป๋อง และน้ำสมุนไพรอื่น ๆ เช่น น้ำกระเจี๊ยบ เป็นต้น 

โครงการพระราชดําริ

- สวนซิงโคนา ดอยสุเทพ

          ตั้งขึ้นในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้ใช้เป็นที่ทำการทดลองปลูกพืชสมุนไพร จึงได้มีการนำต้นซิงโคนา (ควินิน) มาทดลองปลูก ทำการวิจัยและขยายพันธุ์ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทดลองสมุนไพรอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย

โครงการพระราชดําริ

- สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย 

          ตั้งอยู่ที่ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทดลองรูปแบบระบบการปลูกพืชต่าง ๆ ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ อาทิ ระบบการปลูกพืชโดยมีไม้ผลเป็นหลัก การทำการเกษตรแบบยั่งยืน ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตร และการลดการใช้สารเคมี อีกทั้งยังจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดทำแปลงรวบรวมพันธุ์ไม้หายาก พันธุ์ไม้หอมเฉลิมพระเกียรติ สมุนไพร รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรอีกด้วย

โครงการพระราชดําริ

- สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
          ตั้งอยู่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่รวม 3,500 ไร่ เป็นศูนย์วิชาการและบริการด้านพฤกษศาสตร์ของประเทศ เพื่อรวบรวมพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงอนุรักษ์พันธุ์พืชในประเทศไทย โดยเฉพาะไม้ประจำถิ่น กล้วยไม้ ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ไม้สมุนไพร ไม้หายาก และไม้ที่กำลังจะสูญพันธุ์ ตลอดจนการดำเนินการขยายพันธุ์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นเพื่อการศึกษาในอนาคต
โครงการพระราชดําริ

- สวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

          ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง ดำเนินการสร้างขึ้นโดยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย มีพื้นที่ 60 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมความรู้ในเรื่องพืชสมุนไพร โดยรวบรวมพันธุ์พืชต่าง ๆ ผลิตและขยายพันธุ์สมุนไพรบางชนิดที่ได้มีการพิสูจน์สรรพคุณทางยา และเป็นสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ภายในสวนมีการจัดปลูกพืชสมุนไพรเป็นหมวดหมู่จำแนกตามสรรพคุณออกเป็น 20 อาการโรค

โครงการพระราชดําริ

- อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ 

          โครงการวิจัยสมุนไพรทุกด้าน รวมทั้งโครงการปลูกสวนสมุนไพรเพื่อการศึกษา ตั้งอยู่ในพื้นที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 

          นอกจากจุดประสงค์ในการต่อยอดและพัฒนาสมุนไพรให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่แล้ว โครงการพระราชดำริด้านสมุนไพรยังช่วยพลิกฟื้นผืนดินและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยไปพร้อม ๆ กันด้วย จนอาจกล่าวได้ว่า การนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 นี้ แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องกับปรัชญาในการพัฒนาสังคมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 5 ประการ คือ

          1. การส่งเสริมศักยภาพในการพึ่งตนเองของประชาชน
          2. การอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์
          3. การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย
          4. เศรษฐกิจพอเพียง
          5. การพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ 

          ปัจจุบันโครงการพระราชดำริด้านสมุนไพรต่าง ๆ ได้ศึกษาและค้นคว้าพืชสมุนไพรนานาชนิดเป็นจำนวนมาก และได้ผลผลิตออกมาในหลายรูปแบบด้วยกัน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และส่งเสริมให้คนไทยทุกคนได้มีสมุนไพรดี ๆ ไว้อุปโภคบริโภค นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้จริง ๆ นะคะ
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
มูลนิธิชัยพัฒนา
สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ที่มา Kapook.com

วันอังคารที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560

5 พระราชวัง วัง และพระตำหนักสำคัญ สถานที่แห่งความผูกพันของ ในหลวง ร.9

5 พระราชวัง วัง และพระตำหนักสำคัญ สถานที่แห่งความผูกพันของ ในหลวง ร.9

พระราชวัง วัง และพระตำหนักสำคัญ

          รวบรวม 5 พระราชวัง วัง และพระตำหนักที่มีความผูกพันกับ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ชวนไปเที่ยวชมและตามรอยพ่อหลวง

          ในผืนแผ่นดินไทยคงไม่มีที่ไหนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยือน ซึ่งแต่ละสถานที่ที่พระองค์เสด็จฯ ไปก็มีความสวยงามและน่าสนใจแตกต่างกันไป แต่วันนี้เราจะพาไปตามรอยเที่ยวพระราชวัง วัง และพระตำหนัก ที่มีความสำคัญและผูกพันกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกันบ้างค่ะ
1. พระบรมมหาราชวัง

พระราชวัง วัง และพระตำหนักสำคัญ

          ในปีพุทธศักราช 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระบรมราชโองการให้สร้างพระนครและสถาปนาพระราชมณเฑียรสถานทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยแรกเริ่มนั้นสร้างทำแค่พอเป็นที่ประทับ ล้อมรอบด้วยปราการระเนียดไม้สำหรับตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษก หลังจากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างปราสาทราชมณเฑียร พระตำหนัก  เรือนหลวง โดยครบถ้วน รวมทั้งพระอารามในเขตพระราชฐานสำหรับประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระราชทานนามว่า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

          นับแต่มีการสร้างพระบรมมหาราชวัง สถานที่นี้ก็ได้เป็นพระราชฐานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และเป็นศูนย์กลางการปกครองของบ้านเมือง อีกทั้งยังเป็นสถานที่ซึ่งทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินและทรงประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ตามโบราณราชประเพณี โดยมีสถานที่สำคัญภายในพระบรมมหาราชวัง อาทิ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, พระที่นั่งบรมพิมาน, พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท, พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นต้น

          เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในพระบรมมหาราชวังและเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้นมีมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ 4-8 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493

          การเข้าเที่ยวชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สามารถเข้าเที่ยวชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ปิดการจำหน่ายตั๋วเวลา 15.30 น. นักท่องเที่ยวชาวไทยเข้าชมฟรี ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต้องซื้อตั๋วชุด ชุดละ 500 บาท/ท่าน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักพระราชวัง โทรศัพท์ 0 2623 5500 ต่อ 3100 และเว็บไซต์ palaces.thai.net

2. วังสระปทุม
พระราชวัง วัง และพระตำหนักสำคัญ

          วังสระปทุม ปัจจุบันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เดิมทีวังสระปทุมแห่งนี้เคยเป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2459-2498 จากนั้นก็ได้มาเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หลังจากที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

          ในวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493 ได้มีการประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ วังสระปทุมแห่งนี้ ถือได้ว่าที่นี่เป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยเลยทีเดียว

          เนื่องด้วยปัจจุบันวังสระปทุมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การเข้าเยี่ยมชมจึงต้องได้รับพระราชทานพระราชานุญาตเสียก่อน ติดตามข่าวสารวังสระปทุมและพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้ที่ เฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า : Queen Savang Vadhana Museum

3. พระที่นั่งอนันตสมาคม

พระราชวัง วัง และพระตำหนักสำคัญ

          พระที่นั่งอนันตสมาคม เริ่มก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปีพุทธศักราช 2450 เพื่อเป็นที่รับรองแขกเมืองและประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน ตัวอาคารมีลักษณะเป็นอาคารหินอ่อนแบบโดมคลาสสิกโรมัน ผสานศิลปะอิตาเลียนเรอเนอซองส์และแบบนีโอคลาสสิก โดยมีมิสเตอร์ เอ็ม.ตามานโย (M.Tamango) ช่างจากอิตาลีเป็นผู้ออกแบบ นายซี อัลเลกรี เป็นวิศวกร และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง ซึ่งนอกจากสถาปัตยกรรมของที่นี่จะงดงามมาก ๆ แล้ว บริเวณรอบ ๆ ยังร่มรื่นไปด้วยสวนสวยและต้นไม้นานาพรรณ

          ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2549 ได้มีการจัดพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยมีพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร ระเบียงหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งมีพสกนิกรชาวไทยรอรับเฝ้าเสด็จมากมาย กลายเป็นเรื่องราวที่สุดแสนจะประทับใจและเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญอีกหนึ่งเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไทย

4. พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์

พระราชวัง วัง และพระตำหนักสำคัญ
ภาพจาก Sirichai Puangsuwan / shutterstock.com

          พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ตั้งอยู่บนดอยบวกห้า ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 2504 เพื่อใช้เป็นที่ประทับในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรมที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อทรงงาน และเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตภาคเหนือ รวมทั้งเพื่อรับรองพระราชอาคันตุกะที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยในโอกาสต่าง ๆ

          พระตำหนักแห่งนี้มีลักษณะเป็นแผนผังแบบเรือนไทยภาคกลางที่เรียกว่าเรือนหมู่ มีสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์ รายล้อมไปด้วยสวนดอกไม้อันสวยงาม โดยเฉพาะดอกกุหลาบ ที่มีให้ชมมากมายหลากหลายสายพันธุ์และสีสัน สร้างบรรยากาศสุดแสนจะโรแมนติกและผ่อนคลายให้กับพระตำหนักแห่งนี้ อากาศที่นี่จะเย็นสบายตลอดทั้งปี เพราะตั้งอยู่บนภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลมากถึง 1,373.197 เมตร

          การเข้าเยี่ยมชมพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จะต้องแต่งกายให้สุภาพ สามารถเข้าเที่ยวชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. (ปิดจำหน่ายบัตร 15.30 น.) สอบถามรายละเอียดได้ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ โทรศัพท์ 0 5322 3065 หรือที่เว็บไซต์ bhubingpalace.org

5. พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

          พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตั้งอยู่ในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เนื้อที่ประมาณ 395 ไร่ เป็นพระตำหนักที่มีภูมิทัศน์ที่สวยงามร่มรื่น รายล้อมไปด้วยท้องนาสีเขียวขจี ไร่หม่อน สวนป่า และต้นไม้นานาพรรณ

          พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นพระตำหนักที่สร้างขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ที่นี่เป็นสถานที่สำหรับทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ ทั้งจะได้เป็นที่ซึ่งราชเสวกจะได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นส่วนพระองค์และส่วนตัว พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีวางศิลาพระฤกษ์พระตำหนักนั้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2456 ได้พระราชทานนามว่า สวนจิตรลดา และพระราชทานนามพระตำหนักว่า พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

          ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดที่จะทรงใช้พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นที่ประทับถาวร จึงมีการต่อเติมพระตำหนักหลายครั้ง ในปีพุทธศักราช 2501 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนขึ้นภายในบริเวณสวนจิตรลดา เพื่อให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทรงศึกษาเล่าเรียน พระราชทานนามว่า โรงเรียนจิตรลดา

          นอกจากนี้ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานยังมีโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ซึ่งเป็นแหล่งวิจัยและให้ความรู้เกี่ยวกับการเกษตรแก่ประชาชนชาวไทย โดยภายในโครงการจะมีโรงโคนมสวนจิตรลดา, โรงสีข้าว, โรงกระดาษสา, แปลงนาข้าว และอื่น ๆ ให้ได้เข้าเที่ยวชม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 2282 8200

          สำหรับทั้ง 5 สถานที่นี้ นอกจากจะเป็นสถานที่ในความผูกพันของในหลวง รัชกาลที่ 9 แล้ว ก็ยังมีสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ที่สวยงามและน่าสนใจ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่จะทำให้คนไทยได้ลำรึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อีกด้วย :) 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
rspg.orglib.su.ac.thbhubingpalace.orgweb.ku.ac.thrspg.or.th

ที่มา Kapook.com

วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ร้านโครงการหลวง แหล่งรวมอาหารเพื่อสุขภาพ

3 ร้านโครงการหลวง แหล่งรวมอาหารเพื่อสุขภาพ ส่งความห่วงใยถึงคนไทยทั้งปวง

ร้านโครงการหลวง

          ร้านโครงการหลวง หนึ่งในโครงการพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า คนซื้อได้สุขภาพดี ๆ คนขายก็มีรายได้

          สินค้าจากโครงการหลวงการันตีได้ถึงคุณภาพ และความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะในหมวดอาหารเพื่อสุขภาพ จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนจะตามหาร้านโครงการหลวงว่ามีสาขาไหนบ้าง ดังนั้นกระปุกดอทคอมจึงขอรวบรวมร้านโครงการหลวงที่จำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพจากโครงการหลวงมาฝาก มาดูกันค่ะว่าเราจะซื้อสินค้าโครงการหลวงได้จากที่ไหน ยังไงบ้าง
ร้านโครงการหลวง
ภาพจาก suvarnachad.co.th 

1. Golden Place 

          ร้าน โกลเด้น เพลซ เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นต้นแบบร้านค้าปลีกสำหรับคนไทย โดยเปรียบได้ว่าร้านโกลเด้น เพลซ เป็น “ตู้เย็น” ของประชาชนในแต่ละพื้นที่ สินค้าที่จำหน่ายในโกลเด้น เพลซจึงมีความหลากหลาย และราคาไม่แพง เพราะเน้นการนำสินค้าปลอดสารพิษจากเกษตรกรมาเข้าสู่ธุรกิจการค้าปลีกอย่างยั่งยืน และยังเป็นการส่งเสริมให้การผลิตสินค้าของเกษตรกรมีคุณภาพสม่ำเสมอ สอดคล้องกับสโลแกนของร้านที่ว่า “นึกถึงสุขภาพ นึกถึงโกลเด้น เพลซ”

          ทั้งนี้ โกลเด้น เพลซ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท สุวรรณชาด จำกัด ในพระราชูปถัมภ์ มีจุดขายของร้านในด้านสินค้าปลอดสารพิษ ของสดใหม่จากเกษตรกรผู้ผลิตโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ผัก หรือผลไม้ ร้านโกลเด้น เพลซ จึงเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังมีการให้ความรู้แก่เกษตรกรในด้านการแปรรูปสินค้า รวมทั้งส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดสารพิษตามมาตรฐานสากล เกษตรกรจึงสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และยังช่วยเพิ่มมูลค้าสินค้าเกษตรในรูปแบบเกษตรอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดการจ้างงานในกลุ่มเกษตรกรมากขึ้น รายได้ของประชากรโดยรวมก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย 

ร้านโครงการหลวง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จทอดพระเนตรกิจการร้านโกลเด้นเพลส ที่โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2557 

          และแน่นอนค่ะว่าเมื่อมีการวัดคุณภาพสินค้า มีการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรแบบปลอดสารพิษ 100% แบบนี้ สิ่งที่ผู้บริโภคจะได้จากร้านโกลเด้น เพลซ ก็คือ อาหารเพื่อสุขภาพคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสมอีกด้วย โดยสินค้าในโกลเด้น เพลซ ก็มีตั้งแต่ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ชาชนิดต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อาหารแปรรูปเพื่อสุขภาพ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ในหมวดอาหารเสริม ยา และของใช้ภายในบ้าน เรียกได้ว่าเป็นซูเปอร์มาเก็ตเพื่อคนรักสุขภาพจากความหวังดีของพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ตามแนวพระราชดำริของพระองค์อย่างแท้จริง

          ส่วนใครอยากรู้ว่า โกลเด้น เพลซ มีสาขาไหนบ้าง สามารถคลิกอ่านจากลิงก์ด้านล่างเลยค่

          โกลเด้น เพลซ สาขาต่าง ๆ

ร้านโครงการหลวง

2. ร้านโครงการหลวง

          ร้านโครงการหลวงเป็นร้านค้าที่อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง โดยจุดเริ่มต้นของมูลนิธิโครงการหลวงเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 เมื่อนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรวิถีชีวิตของชาวเขาที่บ้านดอยปุย ใกล้ตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ซึ่งทำให้พระองค์ทรงทราบถึงปัญหาการทำเกษตรของชาวเขา ซึ่งไม่รู้จะปลูกพืชผลอะไรในพื้นที่เขตหนาว จึงได้แต่ปลูกฝิ่น และท้อพันธุ์พื้นเมืองซึ่งมีขนาดเล็ก ชีวิตความเป็นอยู่จึงไม่ค่อยดี ดังนั้นพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงพระราชทานเงินจำนวน 200,000 บาท ให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อจัดหาที่ดินดำเนินงานวิจัยผลไม้เขตหนาวขึ้นมา

          โดยเริ่มแรกนั้น โครงการหลวงเป็นโครงการส่วนพระองค์ โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งผู้อำนวยการ ซึ่งในขณะนั้น โครงการหลวงมีชื่อเต็ม ๆ ว่า โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ รวมกับเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายสำหรับเป็นงบประมาณดำเนินงานต่าง ๆ ในโครงการ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช มีพระราชดำรัสในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2517 ความว่า...
      
          “เรื่องที่จะช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขา เพื่อจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถที่จะเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้ของเขาเอง ที่มีโครงการนี้ จุดประสงค์อย่างหนึ่งก็คือ มนุษยธรรม หมายถึง ให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร สามารถที่จะมีความรู้และพยุงตัว มีความเจริญก้าวหน้าได้ อีกอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่าควรจะช่วยเพราะเป็นปัญหาใหญ่คือ ปัญหาเรื่องยาเสพติด ถ้าสามารถช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์บ้าง เขาจะเลิกปลูกยาเสพติด คือ ฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับการปราบปรามการปลูกฝิ่นและการค้าฝิ่นได้ผลดี อันนี้ก็เป็นผลอย่างหนึ่ง ผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมาก็คือ ชาวเขาตามที่รู้เป็นผู้ที่ทำการเพาะปลูกโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยชาวเขา ก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี ความอยู่ดีกินดี และปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ เพราะถ้าสามารถทำโครงการนี้ได้สำเร็จ ให้เขาอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง สามารถที่จะมีความอยู่ดีกินดีพอสมควร และสนับสนุนนโยบายที่จะรักษาป่าไม้ รักษาดินให้เป็นประโยชน์ต่อไป ประโยชน์อันนี้ก็จะยั่งยืนมาก”

ร้านโครงการหลวง

          จะเห็นได้ว่าโครงการหลวงมีจุดประสงค์หลักในการช่วยชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา ช่วยให้เขามีอาชีพเกษตรกรอย่างถูกต้อง ลดปัญหาฝิ่นที่เป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง ลดปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย อีกทั้งโครงการหลวงยังช่วยเพิ่มทักษะอาชีพในการแปรรูปสินค้าเกษตรกรรม ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้และเป็นการสร้างงานให้ชาวเขามากขึ้นด้วย

ร้านโครงการหลวง

ร้านโครงการหลวง

          อย่างไรก็ตาม มูลนิธิโครงการหลวงก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2535 โดยพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จดทะเบียนโครงการหลวงขึ้นเป็นมูลนิธิโครงการหลวง โดยพระราชทานเงินเพื่อเป็นทรัพย์สินของมูลนิธิฯ เริ่มแรก 500,000 บาท เพื่อให้เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่มั่นคงถาวร สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง มีการบริหารงานอย่างคล่องตัว โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิฯ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงเป็นประธานมูลนิธิฯ และมี ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นเลขาธิการมูลนิธิฯ

          ได้ทราบประวัติควาเป็นมาของมูลนิธิโครงการหลวงกันคร่าว ๆ แล้ว เรามาดูกันบ้างค่ะว่า ในร้านโครงการหลวงจะมีสินค้าเพื่อสุขภาพอะไรบ้าง 

สินค้าเพื่อสุขภาพในร้านโครงการหลวง

          หากใครเคยผ่านเข้าไปนร้านโครงการหลวงจะเห็นได้เลยว่ามีสินค้าเพื่อสุขภาพจำหน่ายอยู่เยอะมาก โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่สินค้าจากโครงการหลวงได้ตามนี้เลยค่ะ

ร้านโครงการหลวง

          - ผัก เช่น ผักสด ผักพื้นเมืองภาคเหนือ ผักที่ปลูกได้ในเขตพื้นที่หนาว เช่น สตรอว์เบอร์รี ซาโยเต้ บีทรูท หรืออาร์ติโช้ค เป็นต้น

          - สมุนไพร เช่น ใบไทม์ พาร์สเลย์ คาโมมายล์ ลาเวนเดอร์ สเปียร์มินต์ ออริกาโน เป็นต้น

          - เห็ด เช่น เห็ดแชมปิญอง เห็ดซูงิตาเกะ เห็นนางฟ้าภูฏาน เห็ดนางรมดอย เห็ดหอมสด เป็นต้น

          - พืชไร่ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวกล้องดอยสีแดง ข้าวกล้องดอยหอมนิล ข้าวซ้อมมือ ข้าวเหนียวก่ำ งาดำ งาหอม ถั่วแดงหลวง เป็นต้น

          - ชา เช่น ชาคาโมมายล์อบแห้งพร้อมชง ชาอู่หลง ชาเขียว (อ่างขาง) เป็นต้น

ร้านโครงการหลวง

          - กาแฟ เช่น กาแฟคั่วโครงการหลวง กาแฟคั่วดอยคำ เป็นต้น

          - ผลไม้ เช่น กีวี่ พีช พลัม บ๊วยเขียว ลูกพลับ มัลเบอร์รี สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน เป็นต้น

          - ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เช่น กรีกโยเกิร์ต ข้าวเกรียบแครอท ขนมปังฟักทอง คุกกี้ชาอู่หลง เป็นต้น

          - ดอกไม้กินได้ เช่น ดอกผักชี ดอกมินต์ ดอกลาเวนเดอร์ ดอกเบซิล เป็นต้น

          - ปศุสัตว์ เช่น หมูรมควัน ไก่ต๊อก ไก่ฟ้า ไก่เบรสฝรั่งเศส เป็นต้น

          - ประมง เช่น ปลาเทราต์ คาเวียร์ กุ้งก้ามแดง ปูขน เป็นต้น

          - ดอกไม้ 

          - ไม้ตัดใบ

          - เครื่องสำอาง & สปา

          ผลิตภัณฑ์ในโครงการหลวงมีมากมายจริง ๆ นะคะ ทั้งสินค้าบริโภคและอุปโภคเลยทีเดียว ใครอยากไปเลือกซื้ออาหารเพื่อสุขภาพที่ส่งตรงจากเกษตรกรผู้ผลิต การันตีได้ถึงคุณภาพและความสะอาดปลอดภัย สามารถไปเลือกซื้อได้ตามร้านโครงการหลวงสาขาต่าง ๆ ได้เลย

          ร้านโครงการหลวง สาขาต่าง ๆ
ร้านโครงการหลวง
ภาพจาก ร้านดอยคำ

3. ร้านดอยคำ

          “เกษตรเพื่อชุมชน ผลิตผลเพื่อคนไทย” นี่คือสโลแกนเข้าใจง่ายของดอยคำ โดยจุดเริ่มต้นของดอยคำเกี่ยวเนื่องกับโครงการหลวงอยู่พอสมควรค่ะ กล่าวคือ หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้จัดตั้งมูลนิธิโครงการหลวงขึ้นมา ช่วยส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชผัก ผลไม้หลากชนิดทดแทนการปลูกฝิ่นซึ่งเป็นยาเสพติดได้สำเร็จแล้ว ทว่าแหล่งปลูกพืชผลเกษตรกรรมอยู่ห่างไกลจากตลาดรับซื้อ จึงเกิดปัญหาพ่อค้าคนกลางที่มากดราคาผลิตผลของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ไม่เป็นธรรม 

          อีกทั้งในบางฤดูจะมีผลผลิตล้นตลาด หรือบางครั้งผลผลิตที่ได้ก็ไม่ได้ขนาดที่เหมาะสมในการจำหน่ายเป็นผลสด ดังนั้นในปี พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง "สหกรณ์ชาวเขา" และ "โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป" แห่งแรกขึ้น เพื่อช่วยรับซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม โดยนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในเครื่องหมายการค้า "ดอยคำ"เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนจัดหาช่องทางกระจายสินค้าสู่ตลาด รวมถึงจัดให้มีการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารตามแนวพระราชดำริ "อุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการพัฒนาชนบท" 

ร้านโครงการหลวง
 ภาพจาก ร้านดอยคำ

          ต่อมา ในปี พ.ศ. 2537 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชกระแสให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รับช่วงดำเนินกิจการโรงงานหลวงฯ ต่อจากมูลนิธิโครงการหลวง โดยจัดตั้งเป็นนิติบุคคลภายใต้ชื่อ "บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด" โดยมีจุดมุ่งหมายขององค์กรในด้านการรับซื้อ พัฒนา และแปรรูปผลผลิตของเกษตรกรให้เป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพระดับพรีเมียมในราคาที่จับต้องได้ นับว่าเป็นผู้นำธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำผลไม้ และอาหารแปรรูปเพื่อสังคมไทยโดยแท้จริง

          หลายคนอาจเคยซื้อผลิตภัณฑ์ดอยคำมาบริโภคกันอยู่บ่อยครั้ง แล้วทราบไหมคะว่า ดอยคำ ไม่ได้มีแค่น้ำผลไม้เท่านั้นนะ แต่สินค้าในร้านดอยคำยังมีทั้งผลไม้อบแห้ง น้ำผึ้ง นมถั่วเหลืองและสมุนไพรผง แยมต่าง ๆ น้ำผลไม้เข้มข้น ข้าวกล้องและสมุนไพรแห้ง รวมไปถึงผลไม้ในน้ำเชื่อม และเห็ดเผาะในน้ำเกลือบรรจุกระป๋องเลยล่ะค่ะ
      
ร้านโครงการหลวง
 ภาพจาก ร้านดอยคำ

          ใครสนใจอยากไปเลือกซื้อสินค้าดอยคำเพื่อสนับสนุนเกษตรกรไทย แลกกับการได้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพคุณภาพระดับพรีเมียมในราคาไม่แพงจนเกินไป ก็ลองไปเลือกชมสินค้าในร้านดอยคำได้ตามสาขาที่ใกล้บ้านเลย

          ร้านดอยคำ สาขาต่าง ๆ

          ทั้ง 3 ร้านนี้ก็เป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยได้บริโภคอาหารคุณภาพดี ปลอดภัยต่อสุขภาพ และในขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยยกระดับชีวิตเกษตรกรทั้งในเขตพื้นที่สูง และเกษตรกรทั่วประเทศด้วยนะคะ อย่างไรก็ตาม กระปุกดอทคอมขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ด้วยความอาลัยยิ่ง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Golden Placeมูลนิธิโครงการหลวงมูลนิธิโครงการหลวงดอยคำ

ที่มา Kapook.com