โครงการพระราชดำริด้านสมุนไพร อีกหนึ่งพระราชกรณียกิจในหลวง รัชกาลที่ 9
โครงการพระราชดำริด้านสมุนไพรของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่เกิดจากสายพระเนตรอันยาวไกล พัฒนาทั้งสมุนไพรไทยและผสานหลักเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งหลักการเกษตรเข้าไว้ด้วยกัน
เป็นที่ทราบกันดีมาตลอดเวลาว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชกรณียกิจนับพัน ๆ โครงการ แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อประชาชนชาวไทยมาอย่างยาวนาน และหนึ่งในโครงการพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่เราอยากนำเสนอให้ชาวไทยทุกคนได้รู้และศึกษากันอีกโครงการหนึ่งก็คือ โครงการพระราชดำริด้านสมุนไพร ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9
โดยนอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จะทรงมีโครงการพระราชดำริด้านสาธารณสุขไทยหลายต่อหลายสาขาแล้ว ยังทรงสนพระราชหฤทัยในด้านสมุนไพรไทย ที่ได้ใช้ประโยชน์มาเป็นเวลานานตั้งแต่อดีต จึงทรงมีพระราชดำริว่าควรจะต้องมีการส่งเสริมการใช้และพัฒนาสมุนไพรเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยพระองค์ได้ทรงดำเนินการเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ดังนั้นจะเห็นได้จากโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษา พัฒนา และอนุรักษ์สมุนไพรที่เกิดขึ้นหลายโครงการ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. โครงการที่เกิดจากพระราชดำริโดยแท้จริง
2. โครงการที่เกิดขึ้นโดยหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการจัดทำขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริ
โครงการที่เกิดจากพระราชดำริโดยแท้จริง อันได้แก่
- โครงการสวนป่าสมุนไพรของศูนย์การศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตั้งอยู่ที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งในปี พ.ศ. 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่จำนวน 15 ไร่ จัดสร้างสวนป่าสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ไว้ศึกษาวิจัยทางวิชาการเพื่อเผยแพร่การใช้ประโยชน์ และเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ โดยในปัจจุบันมีพรรณพืชในสวนป่าแห่งนี้อยู่กว่า 731 ชนิดด้วยกัน
- โครงการพระราชดำริเพื่อการศึกษาวิจัยสมุนไพรที่ใช้กับโรคมะเร็ง
“ฉันไม่สบายใจมากที่คนไทยของฉันเป็นมะเร็งตายกันมาก” จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน เนื่องจากมีอัตราการตายด้วยโรคมะเร็งมากขึ้นเรื่อย ๆ นายแพทย์นพรัตน์ บุณยเลิศ จึงได้ทำการค้นคว้าทดลองและคิดค้นตำรับยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ หลายตำรับ และใช้รักษาผู้ป่วยอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยสมุนไพรที่ใช้ในตำรับของนายแพทย์นพรัตน์ ก็เช่น ทองพันชั่ง (หญ้ามันไก่), ฟ้าทะลาย (ฟ้าทะลายโจร), ผักบุ้ง (ผักทอดยอด) และหญ้าผมยุ่ง เป็นต้น
โครงการพระราชดำริที่เกิดขึ้นโดยหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการจัดทำขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริ
เป็นโครงการพระราชดำริที่เกิดขึ้นโดยหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการจัดทำขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริ ซึ่งนอกจากจะเป็นโครงการพัฒนาสมุนไพรให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุดแล้ว ยังมีจุดประสงค์ในการจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ราบสูงอีกด้วย โดยโครงการพระราชดำริด้านสมุนไพรที่เกิดขึ้นโดยหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการจัดทำขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริก็มีดังนี้
ภาพจาก มูลนิธิโครงการหลวง
- โครงการหลวง ดอยคำ
มีจุดประสงค์เพื่อให้ชาวเขามีอาชีพทำกิน อันเป็นการแก้ปัญหายาเสพติดและการตัดไม้ทำลายป่า ด้วยการส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชอื่น ๆ ทดแทนฝิ่น จนกระทั่งมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรของมูลนิธิโครงการหลวงเกิดขึ้นมากมายหลายชนิด ในรูปผลิตภัณฑ์ดอยคำ
ภาพจาก มูลนิธิโครงการหลวง
- โครงการภายใต้มูลนิธิโครงการหลวง
ซึ่งได้ดำเนินการผสมผสานร่วมกับผลิตภัณฑ์การเกษตรอื่น ๆ และผลิตอาหาร เช่น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue Culture) เพื่อเพิ่มผลผลิต โดยไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่เพาะปลูกมากเกินไป การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีชีวภาพอื่น ๆ เช่น การใช้ประโยชน์จากจุลชีพเพื่อการผลิต นอกจากนี้ยังมีโครงการทดลอง และห้องปฏิบัติการเพื่อการวิจัยและพัฒนาสำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร และการเกษตรในบริเวณพระราชวังสวนจิตรลดา ซึ่งทรงให้ใช้พื้นที่อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดทุกหย่อมหญ้า
โดยตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรภายใต้มูลนิธิโครงการหลวงที่ได้ใช้เทคโนโลยีพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถวางจำหน่ายในท้องตลาดได้จริงก็อย่างเช่น เห็ดหลินจือสกัดในรูปเห็ดหลินจือกระป๋อง และน้ำสมุนไพรอื่น ๆ เช่น น้ำกระเจี๊ยบ เป็นต้น
- สวนซิงโคนา ดอยสุเทพ
ตั้งขึ้นในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้ใช้เป็นที่ทำการทดลองปลูกพืชสมุนไพร จึงได้มีการนำต้นซิงโคนา (ควินิน) มาทดลองปลูก ทำการวิจัยและขยายพันธุ์ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทดลองสมุนไพรอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย
- สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย
ตั้งอยู่ที่ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทดลองรูปแบบระบบการปลูกพืชต่าง ๆ ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ อาทิ ระบบการปลูกพืชโดยมีไม้ผลเป็นหลัก การทำการเกษตรแบบยั่งยืน ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตร และการลดการใช้สารเคมี อีกทั้งยังจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดทำแปลงรวบรวมพันธุ์ไม้หายาก พันธุ์ไม้หอมเฉลิมพระเกียรติ สมุนไพร รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรอีกด้วย
ภาพจาก องค์การสวนพฤกษศาสตร์
- สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
ตั้งอยู่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่รวม 3,500 ไร่ เป็นศูนย์วิชาการและบริการด้านพฤกษศาสตร์ของประเทศ เพื่อรวบรวมพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงอนุรักษ์พันธุ์พืชในประเทศไทย โดยเฉพาะไม้ประจำถิ่น กล้วยไม้ ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ไม้สมุนไพร ไม้หายาก และไม้ที่กำลังจะสูญพันธุ์ ตลอดจนการดำเนินการขยายพันธุ์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นเพื่อการศึกษาในอนาคต
ภาพจาก เทศบาลเมืองมาบตาพุด
- สวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง ดำเนินการสร้างขึ้นโดยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย มีพื้นที่ 60 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมความรู้ในเรื่องพืชสมุนไพร โดยรวบรวมพันธุ์พืชต่าง ๆ ผลิตและขยายพันธุ์สมุนไพรบางชนิดที่ได้มีการพิสูจน์สรรพคุณทางยา และเป็นสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ภายในสวนมีการจัดปลูกพืชสมุนไพรเป็นหมวดหมู่จำแนกตามสรรพคุณออกเป็น 20 อาการโรค
- อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ
โครงการวิจัยสมุนไพรทุกด้าน รวมทั้งโครงการปลูกสวนสมุนไพรเพื่อการศึกษา ตั้งอยู่ในพื้นที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
นอกจากจุดประสงค์ในการต่อยอดและพัฒนาสมุนไพรให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่แล้ว โครงการพระราชดำริด้านสมุนไพรยังช่วยพลิกฟื้นผืนดินและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยไปพร้อม ๆ กันด้วย จนอาจกล่าวได้ว่า การนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 นี้ แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องกับปรัชญาในการพัฒนาสังคมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 5 ประการ คือ
1. การส่งเสริมศักยภาพในการพึ่งตนเองของประชาชน
2. การอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์
3. การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย
4. เศรษฐกิจพอเพียง
5. การพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่
ปัจจุบันโครงการพระราชดำริด้านสมุนไพรต่าง ๆ ได้ศึกษาและค้นคว้าพืชสมุนไพรนานาชนิดเป็นจำนวนมาก และได้ผลผลิตออกมาในหลายรูปแบบด้วยกัน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และส่งเสริมให้คนไทยทุกคนได้มีสมุนไพรดี ๆ ไว้อุปโภคบริโภค นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้จริง ๆ นะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
มูลนิธิชัยพัฒนา
สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ที่มา Kapook.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น