5 พระราชวัง วัง และพระตำหนักสำคัญ สถานที่แห่งความผูกพันของ ในหลวง ร.9
รวบรวม 5 พระราชวัง วัง และพระตำหนักที่มีความผูกพันกับ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ชวนไปเที่ยวชมและตามรอยพ่อหลวง
ในผืนแผ่นดินไทยคงไม่มีที่ไหนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยือน ซึ่งแต่ละสถานที่ที่พระองค์เสด็จฯ ไปก็มีความสวยงามและน่าสนใจแตกต่างกันไป แต่วันนี้เราจะพาไปตามรอยเที่ยวพระราชวัง วัง และพระตำหนัก ที่มีความสำคัญและผูกพันกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกันบ้างค่ะ
ในปีพุทธศักราช 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระบรมราชโองการให้สร้างพระนครและสถาปนาพระราชมณเฑียรสถานทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยแรกเริ่มนั้นสร้างทำแค่พอเป็นที่ประทับ ล้อมรอบด้วยปราการระเนียดไม้สำหรับตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษก หลังจากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างปราสาทราชมณเฑียร พระตำหนัก เรือนหลวง โดยครบถ้วน รวมทั้งพระอารามในเขตพระราชฐานสำหรับประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระราชทานนามว่า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
นับแต่มีการสร้างพระบรมมหาราชวัง สถานที่นี้ก็ได้เป็นพระราชฐานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และเป็นศูนย์กลางการปกครองของบ้านเมือง อีกทั้งยังเป็นสถานที่ซึ่งทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินและทรงประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ตามโบราณราชประเพณี โดยมีสถานที่สำคัญภายในพระบรมมหาราชวัง อาทิ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, พระที่นั่งบรมพิมาน, พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท, พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นต้น
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในพระบรมมหาราชวังและเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้นมีมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ 4-8 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493
การเข้าเที่ยวชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สามารถเข้าเที่ยวชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ปิดการจำหน่ายตั๋วเวลา 15.30 น. นักท่องเที่ยวชาวไทยเข้าชมฟรี ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต้องซื้อตั๋วชุด ชุดละ 500 บาท/ท่าน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักพระราชวัง โทรศัพท์ 0 2623 5500 ต่อ 3100 และเว็บไซต์ palaces.thai.net
2. วังสระปทุม
วังสระปทุม ปัจจุบันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เดิมทีวังสระปทุมแห่งนี้เคยเป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2459-2498 จากนั้นก็ได้มาเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หลังจากที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ในวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493 ได้มีการประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ วังสระปทุมแห่งนี้ ถือได้ว่าที่นี่เป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยเลยทีเดียว
เนื่องด้วยปัจจุบันวังสระปทุมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การเข้าเยี่ยมชมจึงต้องได้รับพระราชทานพระราชานุญาตเสียก่อน ติดตามข่าวสารวังสระปทุมและพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้ที่ เฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า : Queen Savang Vadhana Museum
3. พระที่นั่งอนันตสมาคม
พระที่นั่งอนันตสมาคม เริ่มก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปีพุทธศักราช 2450 เพื่อเป็นที่รับรองแขกเมืองและประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน ตัวอาคารมีลักษณะเป็นอาคารหินอ่อนแบบโดมคลาสสิกโรมัน ผสานศิลปะอิตาเลียนเรอเนอซองส์และแบบนีโอคลาสสิก โดยมีมิสเตอร์ เอ็ม.ตามานโย (M.Tamango) ช่างจากอิตาลีเป็นผู้ออกแบบ นายซี อัลเลกรี เป็นวิศวกร และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง ซึ่งนอกจากสถาปัตยกรรมของที่นี่จะงดงามมาก ๆ แล้ว บริเวณรอบ ๆ ยังร่มรื่นไปด้วยสวนสวยและต้นไม้นานาพรรณ
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2549 ได้มีการจัดพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยมีพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร ระเบียงหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งมีพสกนิกรชาวไทยรอรับเฝ้าเสด็จมากมาย กลายเป็นเรื่องราวที่สุดแสนจะประทับใจและเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญอีกหนึ่งเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไทย
4. พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
ภาพจาก Sirichai Puangsuwan / shutterstock.com
พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ตั้งอยู่บนดอยบวกห้า ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 2504 เพื่อใช้เป็นที่ประทับในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรมที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อทรงงาน และเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตภาคเหนือ รวมทั้งเพื่อรับรองพระราชอาคันตุกะที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยในโอกาสต่าง ๆ
พระตำหนักแห่งนี้มีลักษณะเป็นแผนผังแบบเรือนไทยภาคกลางที่เรียกว่าเรือนหมู่ มีสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์ รายล้อมไปด้วยสวนดอกไม้อันสวยงาม โดยเฉพาะดอกกุหลาบ ที่มีให้ชมมากมายหลากหลายสายพันธุ์และสีสัน สร้างบรรยากาศสุดแสนจะโรแมนติกและผ่อนคลายให้กับพระตำหนักแห่งนี้ อากาศที่นี่จะเย็นสบายตลอดทั้งปี เพราะตั้งอยู่บนภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลมากถึง 1,373.197 เมตร
การเข้าเยี่ยมชมพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จะต้องแต่งกายให้สุภาพ สามารถเข้าเที่ยวชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. (ปิดจำหน่ายบัตร 15.30 น.) สอบถามรายละเอียดได้ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ โทรศัพท์ 0 5322 3065 หรือที่เว็บไซต์ bhubingpalace.org
5. พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตั้งอยู่ในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เนื้อที่ประมาณ 395 ไร่ เป็นพระตำหนักที่มีภูมิทัศน์ที่สวยงามร่มรื่น รายล้อมไปด้วยท้องนาสีเขียวขจี ไร่หม่อน สวนป่า และต้นไม้นานาพรรณ
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นพระตำหนักที่สร้างขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ที่นี่เป็นสถานที่สำหรับทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ ทั้งจะได้เป็นที่ซึ่งราชเสวกจะได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นส่วนพระองค์และส่วนตัว พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีวางศิลาพระฤกษ์พระตำหนักนั้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2456 ได้พระราชทานนามว่า สวนจิตรลดา และพระราชทานนามพระตำหนักว่า พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดที่จะทรงใช้พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นที่ประทับถาวร จึงมีการต่อเติมพระตำหนักหลายครั้ง ในปีพุทธศักราช 2501 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนขึ้นภายในบริเวณสวนจิตรลดา เพื่อให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทรงศึกษาเล่าเรียน พระราชทานนามว่า โรงเรียนจิตรลดา
นอกจากนี้ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานยังมีโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ซึ่งเป็นแหล่งวิจัยและให้ความรู้เกี่ยวกับการเกษตรแก่ประชาชนชาวไทย โดยภายในโครงการจะมีโรงโคนมสวนจิตรลดา, โรงสีข้าว, โรงกระดาษสา, แปลงนาข้าว และอื่น ๆ ให้ได้เข้าเที่ยวชม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 2282 8200
สำหรับทั้ง 5 สถานที่นี้ นอกจากจะเป็นสถานที่ในความผูกพันของในหลวง รัชกาลที่ 9 แล้ว ก็ยังมีสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ที่สวยงามและน่าสนใจ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่จะทำให้คนไทยได้ลำรึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อีกด้วย :)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, rspg.org, lib.su.ac.th, bhubingpalace.org, web.ku.ac.th, rspg.or.th
ที่มา Kapook.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น