วันนี้ในอดีต 22 มกราคม 2486 ประกาศใช้คำว่า "สวัสดี" เป็นคำทักทายประจำชาติ
การกล่าวคำทักทายของแต่ละประเทศล้วนมีความแตกต่างกัน และถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่บ่งบอกความเป็นมาของประเทศนั้น ๆ ซึ่งประเทศไทยก็มีคำทักทายเช่นกัน นั่นก็คือคำว่า "สวัสดี" เรียกได้ว่าเป็นคำพูดติดปากไม่ว่าจะเป็นการพบกัน หรือลาจากกัน ต่างก็ต้องเอ่ยคำว่า "สวัสดี" และรู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยนั้นมีการใช้คำนี้อย่างเป็นทางการนานกว่า 70 ปีแล้ว
ทั้งนี้ คำว่า "สวัสดี" มาจาก "โสตถิ" ในภาษาบาลี หรือ "สวัสดิ" (สะ-หวัด-ดิ) ในภาษาสันสกฤต โดยทั้ง 2 คำนี้มีความหมายว่า ความดี ความงาม ความเจริญรุ่งเรือง ความปลอดภัย ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายดีมาก
ต่อมาเมื่อปี 2476 พระยาอุปกิตศิลปสาร ได้นำคำว่า "สวัสดี" ไปเผยแพร่กับนิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้เป็นคำทักทายเมื่อพบกัน ก่อนจะมีการใช้แพร่หลายกันต่อมา
จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นยุคของการบำรุงวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชาติให้เทียบเท่าอารยประเทศ ได้เห็นชอบกับการใช้คำว่า "สวัสดี" เป็นคำทักทายเมื่อพบกันครั้งแรก จึงมอบหมายให้ กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) ออกข่าวและประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2486 ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีการใช้คำว่า "สวัสดี" มาเป็นคำทักทายกัน พร้อมกับมีการยกมือขึ้นไหว้ประกอบคำพูด ทำให้การทักทายของคนไทยนั้นดูอ่อนช้อยจนกลายเป็นที่ชื่นชมของชาวต่างชาตินั่นเอง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
culture.ssru.ac.th, 5.nsru.ac.th
ที่มา Kapook.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น