วันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

13 กุมภาพันธ์ วันรักนกเงือก

13 กุมภาพันธ์ วันรักนกเงือก



 
วันรักนกเงือก
            13 กุมภาพันธ์ วันรักนกเงือก สัตว์โลกที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ รักษาความสมบูรณ์ของผืนป่า มาดูที่มา และความสำคัญของ วันรักนกเงือก กันได้เลย 

            เมื่อพูดถึงนกเงือก หลายคนมักจะนึกถึง รักแท้ แต่จะมีใครรู้บ้างว่า นกเงือกคือกลไกสำคัญ ที่บ่งชี้ว่าป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด เหตุนี้เองทำให้มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือก และเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น วันรักนกเงือก โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา 
ลักษณะของนกเงือก

            นกเงือก (Hornbill) เป็นนกที่มีขนสีดำ-ขาว และอาจจะมีสีอื่น ๆ บ้าง เช่น น้ำตาลและเทา เป็นต้น มีจุดเด่นคือ จะงอยปากหนาที่ใหญ่และมีโหนกทางด้านบนเป็นโพรง ภายในโพรงมีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำ มีลิ้นที่สั้นจึงกินอาหารโดยจัดอาหารอยู่ที่ส่วนปลายปากแล้วโยนกลับลงคอไปปกติ อาหารหลักคือผลไม้ และกินสัตว์เลื้อยคลานเล็ก ๆ เป็นอาหารเสริม

            นกเงือกจะมีส่วนหนังเปลือยเป็นสีฉูดฉาดอยู่บ้าง เช่น หนังบริเวณคอ ขอบตา เป็นต้น มีขนตายาวงาม ขาสั้น ชอบกระโดด ส่วนใหญ่ลำตัวมีขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก บางชนิดอาจตัวใหญ่ได้ถึง 1.5 เมตร ความกว้างของปีกเมื่อกางออกอาจมีความยาว 2 เมตร บินได้แข็งแรง เวลาบินเสียงจะดังมาก โดยเฉพาะนกเงือกขนาดใหญ่ ซึ่งเสียงดังนี้เกิดจากที่อากาศผ่านช่องว่างระหว่างโคนขนปีกเนื่องจากนกเงือกไม่มีขนคลุมด้านใต้ของปีก เมื่อกระพือปีกแต่ละครั้งจึงเกิดเสียงดังราวกับรถจักรไอน้ำ และหากนกเงือกขนาดใหญ่บินมาเป็นฝูงจะทำให้เกิดเสียงดังราวพายุ

            ด้วยความที่จะงอยปากและส่วนหัวที่ใหญ่เหมือนโหนกหรือหงอนนั้น ทำให้นกเงือกถูกนำไปใช้ในเชิงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาแต่โบราณ โดยใช้ทำเป็นเครื่องประดับของชนเผ่าต่าง ๆ อีกด้วย



สายพันธุ์ของนกเงือกในประเทศไทย

            ในประเทศไทยมีนกเงือก 13 ชนิด ได้แก่

            - นกกก (Great Hornbill)

            - นกเงือกกรามช้าง (Wreathed Hornbilll)

            - นกแก๊ก (Oriental Pied Hornbill)

            - นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว (White-throated Brown Hornbill)

            - นกเงือกหัวแรด (Rhinoceros Hornbill)

            - นกชนหิน (Helmeted Hornbill)

            - นกเงือกหัวหงอก (White-crowned Hornbill)

            - นกเงือกปากดำ (Black Hornbill)

            - นกเงือกดำ (Black Hornbill)

            - นกเงือกสีน้ำตาล (Brown Hornbill)

            - นกเงือกปากย่น (Wrinkled Hornbill)

            - นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pouched Hornbill)

            - นกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill) 

วิถีชีวิตตามธรรมชาติของนกเงือก

            นกเงือกเป็นนกที่มีนิสัยรักเดียวใจเดียว ซึ่งเป็นพฤติกรรมน่าสนใจ ทำให้เกิดความประทับใจแก่ผู้พบเห็น มีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกเงือกจะพากันหารังตามโพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรงด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ โคลน หรือมูล หลังจากนั้นตัวเมียจะขังตัวอยู่ภายในเพื่อออกไข่และผลัดขนเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ไข่ และลูกนกที่เกิดมา เมื่อลูกนกโตพอแล้ว จึงเจาะโพรงออกมา 

          ส่วนตัวผู้มีหน้าที่หาอาหารมาป้อนให้ถึงรัง ดังนั้นถ้าหากนกเงือกตัวผู้เสียชีวิตในช่วงฤดูทำรัง นั่นหมายถึงเราจะต้องสูญเสียนกเงือกแม่-ลูก ที่เฝ้ารอการกลับมาของนกเงือกตัวผู้ไปด้วย เนื่องจากตัวเมียที่ผลัดขนจะไม่สามารถออกจากรังได้ ทำให้ค่อย ๆ อดอาหารตายอย่างช้า ๆ ทั้งแม่และลูก ซึ่งนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นกเงือกเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ทั้ง ๆ ที่ตามธรรมชาตินกเงือกอาจมีอายุยืนยาวได้ถึง 30 ปี
 
บทบาทและความสำคัญของนกเงือกในระบบนิเวศป่า

            นกเงือกมีบทบาทเด่นในระบบนิเวศป่า ด้วยการเป็นตัวช่วยกระจายพันธุ์ไม้ที่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากพฤติกรรมการเลือกกินผลไม้สุก และนำพาเมล็ดไปทิ้งในพื้นที่ต่าง ๆ ที่นกเงือกบินไปหากินในแต่ละวัน จากการวิจัยพบว่านกเงือกกินผลไม้ได้มากกว่า 300 ชนิด 100 สกุล 40 วงศ์ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีขนาดผลใหญ่กว่า 1.5 เซนติเมตร ซึ่งนกขนาดเล็กไม่สามารถช่วยกระจายเมล็ดได้ จึงต้องอาศัยนกเงือกเป็นกำลังสำคัญ นกเงือกจึงช่วยรักษาความหลากหลายของพืช โดยเป็นผู้ล่าที่สำคัญของระบบนิเวศป่า ช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลงและหนู จากความสัมพันธ์ของนกเงือกกับระบบนิเวศป่าสมบูรณ์ในแง่ต่าง ๆ ทำให้นกเงือกมีความอ่อนไหวต่อพื้นที่ป่าที่เปลี่ยนแปลงไป หากนกเงือกมีจำนวนลดลงหรือสูญพันธุ์ไป จากพื้นที่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกหลายชนิดอาจสูญพันธุ์ตามไปด้วย โดยเฉพาะพันธุ์ไม้ที่เป็นอาหารของนกเงือก 

           เพราะความสำคัญนี้เอง นกเงือกจึงเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงดุลยภาพต่าง ๆ ในสังคมป่าเขตร้อนให้คงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งแต่ละตัวสามารถช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้มากกว่า 100 ต้น/สัปดาห์ หากสมมติว่าไม้เหล่านี้สามารถเจริญเป็นไม้ใหญ่ได้ 5 เปอร์เซ็นต์ หนึ่งชีวิตของนกเงือกจะสามารถปลูกไม้สำคัญของป่าได้ถึง 500,000 ต้นเลยทีเดียว

 
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ วันรักนกเงือก

            เนื่องจากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีโครงการศึกษาชีววิทยาของนกเงือก ซึ่งมีหลากหลายโครงการ และได้ทำการศึกษานกเงือกไทยมามากกว่า 20 ปี ซึ่งจากการศึกษาวิจัยกว่า 6 โครงการ พบว่า ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ เผ่าพันธุ์ของนกเงือกได้ถูกรุกรานและเสี่ยงต่อสภาวะสูญพันธุ์ อันเนื่องมาจากการถูกล่า หรือแม้กระทั่งการลดจำนวนลงของผืนป่า ทำให้พวกมันไม่สามารถขยายเผ่าพันธุ์ได้ จึงได้มีการประกาศให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ เป็นวันรักนกเงือกของประเทศไทย

            ในทุก ๆ ปี วันรักนกเงือก จะมีการจัดงานและกิจกรรมต่าง ๆ จากหลายภาคส่วน ทั้งทีมงานวิจัย ผู้สนับสนุน หน่วยงานต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยจุดประสงค์ในการจัดงานนั้น เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับนกเงือก ธรรมชาติ และการอนุรักษ์ มีการรายงานสถานภาพของนกเงือก และงานวิจัยต่าง ๆ และอีกหนึ่งจุดประสงค์หลักคือ เพื่อเป็นวันพบปะ พูดคุย สังสรรค์ของผู้ที่รักนกเงือกทุกคน ซึ่งเป็นมิตรภาพที่เชื่อมต่อกันมาเหนียวแน่นและยาวนาน

            อนึ่ง นกเงือก ไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ของรักแท้ หรือรักเดียวใจเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศของป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย ทั้งนี้ ในวันรักนกเงือก จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะทำให้เราได้หันมาตระหนักถึงส่วนเล็ก ๆ ของผืนป่าที่ควรอนุรักษ์ไว้ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ที่ยั่งยืนของธรรมชาติ 


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก THAILAND HORNBILL PROJECTPreeda Hornbill
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
  
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
มหาวิทยาลัยมหิดล
- เฟซบุ๊ก THAILAND HORNBILL PROJECT
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย
osotho.com

ที่มา  Kapook.com

วันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ประโยชน์ของกุหลาบ

ประโยชน์ของกุหลาบ ดอกไม้สื่อรักช่วยสุขภาพดี

สรรพคุณของกุหลาบ
ภาพจาก pexels

          สรรพคุณของกุหลาบเด็ดจริงอะไรจริง ใครคิดว่าเป็นแค่ไม้ประดับ เป็นเพียงดอกกุหลาบสื่อรักถือว่าพลาดมาก !

          ถ้าพูดถึงสรรพคุณของดอกกุหลาบ หลายคนอาจนึกถึงประโยชน์ดอกกุหลาบในด้านช่วยระบาย หรืออาจคิดว่าเป็นดอกไม้ประดับมีกลิ่นหอม แถมยังใช้สื่อรักแทนความในใจในวันแห่งความรักได้อีก ทว่าแท้จริงแล้วกุหลาบ สรรพคุณดีงามระดับสิบเลยล่ะค่ะ ส่วนประโยชน์ของกุหลาบจะดีต่อสุขภาพขนาดไหนนั้น มาอ่านกันเลย

สรรพคุณของกุหลาบ
1. ช่วยคลายเครียด
          กลิ่นหอมอ่อน ๆ ของดอกกุหลาบมีอานุภาพทำลายล้างความวิตกกังวล ความเครียด และความเศร้าหมองในจิตใจเราได้ พร้อมกับช่วยให้อาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะดีขึ้น เคยได้ยินคำว่าดอกไม้บำบัดกันไหมล่ะค่ะ ดอกกุหลายก็เป็นดอกไม้บำบัดชนิดหนึ่งเหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเวลาได้กลิ่นดอกกุหลาบแล้วร่างกายจะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น หรือถ้านำกลีบกุหลาบไปผสมกับน้ำอุ่นในอ่างอาบน้ำแล้วลงไปแช่ ก็ช่วยให้จิตใจสงบ สยบความฟุ้งซ่านได้เยอะเลย

สรรพคุณของกุหลาบ

2. ควบคุมฮอร์โมนเพศหญิงได้

          กลิ่นกุหลาบมีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิง สามารถช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนผู้หญิงให้อยู่ในสภาวะสมดุลได้ ซึ่งด้วยสรรพคุณของดอกกุหลาบในด้านนี้ เราจึงมักจะเห็นเครื่องสำอางชนิดต่าง ๆ มีส่วนผสมของน้ำมันสกัดจากดอกกุหลาบ โดยเฉพาะในครีมบำรุงผิวเพื่อลดริ้วรอย หรือครีมกระชับผิวให้เต่งตึง หรือครีมบำรุงผิวให้ชุ่มชื้น เป็นต้น

3. แก้ไข้ 
          น้ำดอกไม้เทศ หรือการละลายน้ำมันสกัดจากดอกกุหลาบในน้ำต้มสุก เป็นสูตรยาแก้ไข้ตัวร้อนของไทยมาช้านาน โดยสรรพคุณแผนโบราณของดอกกุหลาบมอญมีฤทธิ์แก้ไข้ตัวร้อน แก้กระหาย แก้อ่อนเพลีย และบำรุงกำลัง

4. กระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกาย
          ชาดอกกุหลาบอุดมไปด้วยวิตามินซี และสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มไซโคปีน ซึ่งได้จากสารสีแดงจากกลีบดอกกุหลาบนั่นเอง ดังนั้นการดื่มชาดอกกุหลาบอุ่น ๆ จึงทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากสารเหล่านี้ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ยิ่งถ้าหากผสมน้ำผึ้งซึ่งมีสรรพคุณแก้อักเสบด้วยแล้ว ชากุหลาบน้ำผึ้งแก้วนี้จะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพแบบทวีคูณเลยล่ะค่ะ

สรรพคุณของกุหลาบ
5. เป็นยาระบาย

          สรรพคุณดอกกุหลาบด้านนี้เชื่อว่าหลายคนได้ลองมากับตัวเองแล้ว เอาเป็นว่าคราวนี้ลองมาศึกษาฤทธิ์ทางเคมีของดอกกุหลาบในด้านช่วยระบายกันบ้างค่ะ โดยสารสำคัญที่ได้จากน้ำมันหอมระเหยดอกกุหลาบมีฤทธิ์ผ่านกลไกหลักของระบบขับถ่าย โดยเพิ่มสัดส่วนของน้ำในระบบลำไส้ ส่งผลให้อุจจาระมีความเหลวมากขึ้น อุจจาระจึงอยู่ในสภาวะพร้อมจะถูกขับถ่าย ก่อให้เกิดอาการมวน ๆ ท้องอยากเข้าห้องน้ำนั่นเอง โดยเฉพาะคนที่ดื่มเป็นชากุหลาบแบบใส่นม ก็จะขับถ่ายคล่องมากขึ้นด้วยนะคะ

สรรพคุณของกุหลาบ

6. บรรเทาอาการปวด

          สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลการศึกษาทางคลินิกของฤทธิ์บรรเทาปวดจากเปลือกผลกุหลาบ โดยศึกษาสรรพคุณของกุหลาบพันธุ์ Rosa canina L (rose- hip powder; RHP) เทียบกับยาหลอก กับอาสาสมัครซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคกระดูกและข้ออักเสบจำนวน 30 คน เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งจากการทดลองพบว่า 90% ของผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดจากเปลือกผลดอกกุหลาบ RHP มีอาการปวดลดลง อาการแข็งแกร็งและความไม่สบายตัวลดลง ที่สำคัญผลทางการรักษาดังกล่าวยังคงอยู่เป็นเวลาถึง 3 สัปดาห์หลังจากการหยุดใช้ยา RHP 

          และในส่วนของผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกนั้น มีเพียง 36% ที่อาการปวดลดลง ที่สำคัญ การใช้สารสกัดจากเปลือกผลกุหลาบยังช่วยลดการใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มพาราเซตามอล ยาแก้ปวดโคเดอีน และยาแก้ปวดทามาดอลอย่างเห็นได้ชัดเจน จึงสรุปได้ว่า สารสกัดจากเปลือกผลกุหลาบ RHP สามารถบรรเทาอาการปวดของผู้ป่วยโรคกระดูกและข้ออักเสบได้ อีกทั้งยังช่วยลดการใช้ยาของผู้ป่วยได้จริง


สรรพคุณของกุหลาบ

7. ชากุหลาบช่วยลดน้ำหนักได้ !

          ใบกุหลาบและยอดใบชาที่ผสมกันจนเป็นชากุหลาบ ถือว่าเป็นสุดยอดชาที่ช่วยบำบัดอาการติดขัดต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ ทั้งช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ช่วยลดการอักเสบของผิว และยังช่วยขับพิษออกจากร่างกายได้อีกด้วย เนื่องจากในชากุหลาบอุดมไปด้วยวิตามิน A, B3, C, D และ E ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลผิวพรรณ รวมทั้งมีสารที่ช่วยเบิร์นไขมัน ทำให้ลดน้ำหนักได้เร็วขึ้นด้วยจ้า

          ประโยชน์จากดอกกุหลาบที่มีต่อสุขภาพบอกเลยว่าไม่ธรรมดา แต่อย่างไรก็ดี ดอกกุหลาบที่เราจะดม หรือจะนำมาทำอาหาร เครื่องดื่ม คงต้องตรวจสอบให้ดีด้วยว่าดอกกุหลาบนั้นเป็นดอกกุหลาบปลอดสารพิษ หรืออย่างน้อย ๆ ก็ต้องสะอาดปลอดภัยในระดับหนึ่งนะคะ ซึ่งถ้าไม่ได้ปลูกดอกกุหลาบเอง จุดนี้อาจเป็นการเสี่ยงทายเกินไปว่าดอกไหนปลอดภัยดอกไหนอาจมีพิษ ดังนั้นอาจเลือกซื้อชากุหลาบแบบผงมาชงดื่มคงสะดวกกว่า 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เมื่อวานป้าทานอะไร
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
organicfacts

ที่มา Kapook.com