วันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ประโยชน์ของกุหลาบ

ประโยชน์ของกุหลาบ ดอกไม้สื่อรักช่วยสุขภาพดี

สรรพคุณของกุหลาบ
ภาพจาก pexels

          สรรพคุณของกุหลาบเด็ดจริงอะไรจริง ใครคิดว่าเป็นแค่ไม้ประดับ เป็นเพียงดอกกุหลาบสื่อรักถือว่าพลาดมาก !

          ถ้าพูดถึงสรรพคุณของดอกกุหลาบ หลายคนอาจนึกถึงประโยชน์ดอกกุหลาบในด้านช่วยระบาย หรืออาจคิดว่าเป็นดอกไม้ประดับมีกลิ่นหอม แถมยังใช้สื่อรักแทนความในใจในวันแห่งความรักได้อีก ทว่าแท้จริงแล้วกุหลาบ สรรพคุณดีงามระดับสิบเลยล่ะค่ะ ส่วนประโยชน์ของกุหลาบจะดีต่อสุขภาพขนาดไหนนั้น มาอ่านกันเลย

สรรพคุณของกุหลาบ
1. ช่วยคลายเครียด
          กลิ่นหอมอ่อน ๆ ของดอกกุหลาบมีอานุภาพทำลายล้างความวิตกกังวล ความเครียด และความเศร้าหมองในจิตใจเราได้ พร้อมกับช่วยให้อาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะดีขึ้น เคยได้ยินคำว่าดอกไม้บำบัดกันไหมล่ะค่ะ ดอกกุหลายก็เป็นดอกไม้บำบัดชนิดหนึ่งเหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเวลาได้กลิ่นดอกกุหลาบแล้วร่างกายจะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น หรือถ้านำกลีบกุหลาบไปผสมกับน้ำอุ่นในอ่างอาบน้ำแล้วลงไปแช่ ก็ช่วยให้จิตใจสงบ สยบความฟุ้งซ่านได้เยอะเลย

สรรพคุณของกุหลาบ

2. ควบคุมฮอร์โมนเพศหญิงได้

          กลิ่นกุหลาบมีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิง สามารถช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนผู้หญิงให้อยู่ในสภาวะสมดุลได้ ซึ่งด้วยสรรพคุณของดอกกุหลาบในด้านนี้ เราจึงมักจะเห็นเครื่องสำอางชนิดต่าง ๆ มีส่วนผสมของน้ำมันสกัดจากดอกกุหลาบ โดยเฉพาะในครีมบำรุงผิวเพื่อลดริ้วรอย หรือครีมกระชับผิวให้เต่งตึง หรือครีมบำรุงผิวให้ชุ่มชื้น เป็นต้น

3. แก้ไข้ 
          น้ำดอกไม้เทศ หรือการละลายน้ำมันสกัดจากดอกกุหลาบในน้ำต้มสุก เป็นสูตรยาแก้ไข้ตัวร้อนของไทยมาช้านาน โดยสรรพคุณแผนโบราณของดอกกุหลาบมอญมีฤทธิ์แก้ไข้ตัวร้อน แก้กระหาย แก้อ่อนเพลีย และบำรุงกำลัง

4. กระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกาย
          ชาดอกกุหลาบอุดมไปด้วยวิตามินซี และสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มไซโคปีน ซึ่งได้จากสารสีแดงจากกลีบดอกกุหลาบนั่นเอง ดังนั้นการดื่มชาดอกกุหลาบอุ่น ๆ จึงทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากสารเหล่านี้ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ยิ่งถ้าหากผสมน้ำผึ้งซึ่งมีสรรพคุณแก้อักเสบด้วยแล้ว ชากุหลาบน้ำผึ้งแก้วนี้จะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพแบบทวีคูณเลยล่ะค่ะ

สรรพคุณของกุหลาบ
5. เป็นยาระบาย

          สรรพคุณดอกกุหลาบด้านนี้เชื่อว่าหลายคนได้ลองมากับตัวเองแล้ว เอาเป็นว่าคราวนี้ลองมาศึกษาฤทธิ์ทางเคมีของดอกกุหลาบในด้านช่วยระบายกันบ้างค่ะ โดยสารสำคัญที่ได้จากน้ำมันหอมระเหยดอกกุหลาบมีฤทธิ์ผ่านกลไกหลักของระบบขับถ่าย โดยเพิ่มสัดส่วนของน้ำในระบบลำไส้ ส่งผลให้อุจจาระมีความเหลวมากขึ้น อุจจาระจึงอยู่ในสภาวะพร้อมจะถูกขับถ่าย ก่อให้เกิดอาการมวน ๆ ท้องอยากเข้าห้องน้ำนั่นเอง โดยเฉพาะคนที่ดื่มเป็นชากุหลาบแบบใส่นม ก็จะขับถ่ายคล่องมากขึ้นด้วยนะคะ

สรรพคุณของกุหลาบ

6. บรรเทาอาการปวด

          สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลการศึกษาทางคลินิกของฤทธิ์บรรเทาปวดจากเปลือกผลกุหลาบ โดยศึกษาสรรพคุณของกุหลาบพันธุ์ Rosa canina L (rose- hip powder; RHP) เทียบกับยาหลอก กับอาสาสมัครซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคกระดูกและข้ออักเสบจำนวน 30 คน เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งจากการทดลองพบว่า 90% ของผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดจากเปลือกผลดอกกุหลาบ RHP มีอาการปวดลดลง อาการแข็งแกร็งและความไม่สบายตัวลดลง ที่สำคัญผลทางการรักษาดังกล่าวยังคงอยู่เป็นเวลาถึง 3 สัปดาห์หลังจากการหยุดใช้ยา RHP 

          และในส่วนของผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกนั้น มีเพียง 36% ที่อาการปวดลดลง ที่สำคัญ การใช้สารสกัดจากเปลือกผลกุหลาบยังช่วยลดการใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มพาราเซตามอล ยาแก้ปวดโคเดอีน และยาแก้ปวดทามาดอลอย่างเห็นได้ชัดเจน จึงสรุปได้ว่า สารสกัดจากเปลือกผลกุหลาบ RHP สามารถบรรเทาอาการปวดของผู้ป่วยโรคกระดูกและข้ออักเสบได้ อีกทั้งยังช่วยลดการใช้ยาของผู้ป่วยได้จริง


สรรพคุณของกุหลาบ

7. ชากุหลาบช่วยลดน้ำหนักได้ !

          ใบกุหลาบและยอดใบชาที่ผสมกันจนเป็นชากุหลาบ ถือว่าเป็นสุดยอดชาที่ช่วยบำบัดอาการติดขัดต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ ทั้งช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ช่วยลดการอักเสบของผิว และยังช่วยขับพิษออกจากร่างกายได้อีกด้วย เนื่องจากในชากุหลาบอุดมไปด้วยวิตามิน A, B3, C, D และ E ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลผิวพรรณ รวมทั้งมีสารที่ช่วยเบิร์นไขมัน ทำให้ลดน้ำหนักได้เร็วขึ้นด้วยจ้า

          ประโยชน์จากดอกกุหลาบที่มีต่อสุขภาพบอกเลยว่าไม่ธรรมดา แต่อย่างไรก็ดี ดอกกุหลาบที่เราจะดม หรือจะนำมาทำอาหาร เครื่องดื่ม คงต้องตรวจสอบให้ดีด้วยว่าดอกกุหลาบนั้นเป็นดอกกุหลาบปลอดสารพิษ หรืออย่างน้อย ๆ ก็ต้องสะอาดปลอดภัยในระดับหนึ่งนะคะ ซึ่งถ้าไม่ได้ปลูกดอกกุหลาบเอง จุดนี้อาจเป็นการเสี่ยงทายเกินไปว่าดอกไหนปลอดภัยดอกไหนอาจมีพิษ ดังนั้นอาจเลือกซื้อชากุหลาบแบบผงมาชงดื่มคงสะดวกกว่า 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เมื่อวานป้าทานอะไร
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
organicfacts

ที่มา Kapook.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น