ประวัตินักวิทยาศาสตร์โลก
เนื่องในวันวิทยาศาสตร์ มาทำความรู้จักประวัติ 10 นักวิทยาศาสตร์ของโลก ผู้มีส่วนเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ สิ่งในโลกใบนี้
นักวิทยาศาสตร์ในโลกนี้มีมากมาย แต่มีไม่กี่คนนักหรอกที่ประสบความสำเร็จจนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก และสร้างความเปลี่ยนแปลงจนคนรุ่นหลังต้องขอบคุณสิ่งประดิษฐ์ที่พวกเขาคิดค้นขึ้น ซึ่งกว่าที่พวกเขาจะมีชื่อเสียงเป็นที่นับถือจากผลงาน หลาย ๆ คนก็อาจต้องเสียสละหรือผ่านความยากลำบากมาก่อนโดยที่เราไม่คาดคิด ซึ่งวันนี้กระปุกดอทคอมก็ได้รวบรวมเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จ 10 คนมาฝากกัน ...ตามมาอ่านเรื่องราวของพวกเขากันเลย
1. เซอร์ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Newton)
แน่นอนว่าในบรรดานักวิทยาศาสตร์เก่ง ๆ จะขาดนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษอย่าง เซอร์ไอแซก นิวตัน ไม่ได้เด็ดขาด โดย เซอร์ไอแซก นิวตัน เกิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1642 (พ.ศ. 2185) และเสียชีวิตลงขณะอายุ 85 ปี ในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1727 หรือ พ.ศ. 2270 (ตามปฏิทินจูเลียนของ จูเลียส ซีซาร์) ซึ่งเขาเป็นอัจฉริยะที่เก่งรอบด้านทั้งในฐานะนักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ นักปรัชญา นักเล่นแร่แปรธาตุ และนักเทววิทยา โดยผลงานเด่นที่สุดของเขาที่คนรู้จักกันดีที่สุดก็คือ กฎการเคลื่อนที่ของนิวตันและกฎแรงโน้มถ่วงสากล ที่เขาคิดขึ้นมาได้จากการสังเกตผลแอปเปิลที่ตกจากต้นนั่นเอง
2. หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur)
หลุยส์ ปาสเตอร์ เป็นนักเคมีและนักจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1822 (พ.ศ. 2365) และเสียชีวิตลงในวัย 72 ปี เมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2438) ซึ่งเขาคนนี้ถือว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ช่วยชีวิตผู้คนมากที่สุดคนหนึ่งเลยทีเดียว เพราะเป็นผู้คิดค้นวิธีรักษาโรคต่าง ๆ มากมาย เช่น โรคพิษสุนัขบ้าและโรคแอนแทรกซ์ ยิ่งไปกว่านั้น ยังช่วยทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้น จากการคิดค้นวิธีพาสเจอร์ไรส์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคและถนอมอาหารให้เก็บได้นานขึ้นอีกด้วย
3. กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei)
นักวิทยาศาสตร์ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของฉายา "บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ยุคใหม่" คนนี้ เกิดที่ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1564 (พ.ศ. 2107) และมีชีวิตอยู่จนอายุ 77 ปี จนกระทั่งเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1642 (พ.ศ. 2185) โดยเขาเป็นผู้ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับแนวคิดของวิทยาศาสตร์ยุคก่อนอย่างสิ้นเชิง ด้วยการยึดมั่นในทฤษฎีของตัวเองว่าดาวเคราะห์เป็นฝ่ายหมุนรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งขัดกับความเชื่อของชาวคริสต์ในสมัยก่อนที่สนับสนุนทฤษฎีของอริสโตเติล ที่เชื่อว่าพระอาทิตย์และดวงจันทร์เป็นฝ่ายหมุนรอบโลก จนทำให้เขาถูกห้ามไม่ให้สอนนักเรียนของเขาเกี่ยวกับทฤษฎีนี้อีก มิฉะนั้นจะถูกจับเผาทั้งเป็น เขาจึงได้ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ขึ้นมาด้วยตัวเองเพื่อศึกษาเพิ่มเติมและพิสูจน์ว่าทฤษฎีของเขาเป็นความจริงในที่สุด
4. มารี กูรี (Marie Curie)
มารี กูรี เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวโปแลนด์ เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1867 (พ.ศ. 2410) และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1934 (พ.ศ. 2477) ในวัย 66 ปี ซึ่งเรียกได้ว่าเธอเป็นผู้หญิงเก่งแห่งยุคคนหนึ่งเลยทีเดียว เพราะในขณะที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ในยุคสมัยของเธอไม่ได้รับการศึกษาหรือโอกาส เท่าเทียมกับผู้ชายนัก เธอกลับมุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าจนกระทั่งค้นพบรังสีเรเดียมที่สามารถยับยั้งการขยายตัวของโรคมะเร็งได้ในที่สุด จนเป็นผลให้เธอได้รับรางวัลโนเบล
ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากความเฉลียวฉลาดของเธอแล้ว การอุทิศตัวให้สังคมของเธอก็ยังทำให้หลาย ๆ คนประทับใจอีกด้วย เพราะเธอเลือกที่จะไม่จดสิทธิบัตรสิ่งที่เธอค้นพบซึ่งจะทำให้เธอกลายเป็นเศรษฐีได้สบาย ๆ แต่กลับเลือกอุทิศตัวเพื่อส่วนรวมและค้นคว้าต่อไปจนกระทั่งเสียชีวิตจากการใกล้ชิดรังสีเรเดียมมากเกินไปในที่สุด
5. อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)
คงไม่มีใครไม่รู้จักนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันเชื้อสายยิวซึ่งเกิดเมื่อวัน ที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1879 (พ.ศ. 2422) และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) ในขณะที่มีอายุ 78 ปี คนนี้ ซึ่งถึงแม้เขาจะเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่คนทั่วโลกรู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แต่ที่จริงแล้วเขาเคยเป็นเด็กที่มีปัญหาเรื่องการเรียนรู้มาก่อน โดยเขาไม่สามารถพูดได้จนกระทั่งอายุ 3 ขวบ และอ่านหนังสือออกเมื่อ 8 ขวบ จนไม่มีใครคาดคิดว่าเขาจะกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จได้มากขนาดที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ รวมถึงสร้างทฤษฎีใหม่ ๆ มากมาย
โดยเฉพาะผลงานเด่น เช่น ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษที่อธิบายว่าเราทุกคนจะมองเห็นอัตราความเร็วแสงได้ในระยะเท่ากัน และทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปซึ่งเป็นทฤษฎีที่อธิบายกฎแรงโน้มถ่วงในเชิงเรขาคณิต ซึ่งทำให้นักวิชาการหลายคนจับตามองจนได้รับรางวัลโนเบลในที่สุด
6. ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Robert Darwin)
ชาลส์ ดาร์วิน เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1809 (พ.ศ. 2352) และเสียชีวิตลงในวัย 73 ปี ในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1882 (พ.ศ. 2425) ซึ่งจนกระทั่งยุคปัจจุบัน ทฤษฎีที่นักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติคนนี้คิดค้นขึ้นก็งยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะมีทั้งคนที่ยอมรับและโต้แย้งในเวลาเดียวกัน โดยดาร์วินได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสัตว์ต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งอ้างว่าสัตว์ทั้งหลายจะปรับสภาพร่างกายเพื่อให้เข้ากับการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อมทำให้มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นวิวัฒนาการ ซึ่งแม้ในปัจจุบันเขาจะได้รับยกย่องเป็นนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะคนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งก็ยังมีผู้ที่ปฏิเสธแนวคิดของเขาเช่นกัน
7. โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison)
เชื่อเถอะว่าในบ้านของเราต้องมีสิ่งประดิษฐ์ของโทมัส อัลวา เอดิสัน กันทุกคนแน่นอน เพราะนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1847 (พ.ศ. 2390) และเสียชีวิตในวัย 84 ปี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1931 (พ.ศ. 2474) คนนี้ เป็นเจ้าของสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์มากมายที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันกว่า 1,000 ชิ้น โดยเฉพาะการคิดค้นหลอดไฟที่เป็นผลงานชิ้นเอก แม้ว่าเขาจะมีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ทำให้อ่านหนังสือไม่ออกจนกระทั่งอายุ 12 ปี และบกพร่องเรื่องการฟังหลังประสบอุบัติเหตุบนรถไฟก็ตาม
8. นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla)
นิโคลา เทสลา เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวโครเอเชียสัญชาติอเมริกัน ที่เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1856 (พ.ศ. 2399) และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1943 (พ.ศ. 2486) ในขณะที่มีอายุ 86 ปี โดยมีฉายาว่า"นักประดิษฐ์ที่โลกลืม" เพราะเป็นนักประดิษฐ์คนสำคัญแต่กลับมีน้อยคนที่รู้จัก หรือถูกรู้จักในฐานะนักวิทยาศาสตร์เพี้ยนจากการที่เขามีปัญหาในการเข้าสังคม มากกว่าจะสนใจผลงานของเขาที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้คนอื่น ๆ ซึ่งเขาเป็นผู้ประดิษฐ์ขดลวดเทสลา หรือ Tesla coil ซึ่งเป็นหม้อแปลงที่สามารถสร้างแรงดันไฟฟ้าสูง แถมยังเป็นผู้ค้นพบวิธีการเปลี่ยนสนามแม่เหล็กเป็นสนามไฟฟ้า จึงเป็นที่มาของหน่วยวัดสนามแม่เหล็กเทสลา อีกทั้งยังเป็นผู้ค้นพบวิธีการสื่อสารแบบไร้สายอีกด้วย
9. กูกลิเอลโม มาร์โคนี (Guglielmo Marconi)
นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1874 (พ.ศ. 2417) และเสียชีวิตลงในขณะอายุ 63 ปี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2480) คนนี้ คือคนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตวิทยุคนแรกของโลกอย่างเป็นทางการ ซึ่ง กูกลิเอลโม มาร์โคนี ก็ได้ฉายแววความฉลาดมาตั้งแต่เด็กจากการสนใจเรื่องไฟฟ้าอยู่เสมอ จนพ่อของเขาสนับสนุนด้วยการจ้างครูพิเศษมาสอนเรื่องไฟฟ้าให้กับเขาโดยเฉพาะ และจากความสำเร็จของผลงานชิ้นสำคัญนี้ก็ได้เปลี่ยนเขาให้กลายเป็นเศรษฐีจากการเปิดบริษัทวิทยุโทรเลขมาร์โคนีในที่สุด
10. อริสโตเติล (Aristotle)
สุดท้ายนี้คือคนที่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกในยุคสมัยเริ่มแรกของวิทยาศาสตร์อย่างนักวิทยาศาตร์ชาวกรีกซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง 384-322 ปีก่อนคริสต์ศักราชอย่าง อริสโตเติล นั่นเอง ซึ่งเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญรอบด้านในหลายสาขา เช่น ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ วรรณกรรม และชีววิทยา
ไหวพริบของอริสโตเติลนั้นทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นศิษย์เอกของอัจฉริยะ อย่างเพลโต ตั้งแต่อยู่ในวัย 18 ปี โดยผลงานที่เด่นที่สุดของเขาเห็นจะเป็นด้านชีววิทยา ซึ่งเขาเป็นผู้จำแนกประเภทของสัตว์ตามลักษณะออกเป็น 2 ประเภท คือ พวกที่มีกระดูกสันหลังและพวกที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ทำให้ผู้คนนับถือความสามารถจนได้เป็นพระอาจารย์และพระสหายสนิทของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช
หลังจากได้ทราบเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังของโลกทั้ง 10 คนนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าความพยายามและความขยันนั้นสำคัญกว่าโอกาสที่ได้รับจริง ๆ เพราะแม้ว่านักวิทยาศาสตร์หลายคนจะมีความบกพร่องทางร่างกายหรือถูกกีดกันด้านความคิด แต่ก็สามารถพิสูจน์ตัวเองจนเป็นที่ยอมรับได้ในที่สุด
ที่มา: Kapook.com